xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.จ่อผุดแลมป์เชื่อมด่วนศรีรัช-วงแหวนฯ กับด่วน 2 ระบายจราจรทิศเหนือ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณรงค์ เขียดเดช รองผู้ว่าฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
“กทพ.” เจรจา BECL สร้างแลมป์เชื่อมด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กับด่วน 2 รองรับปริมาณรถจากฝั่งตะวันตกขึ้นเหนือ ลดปัญหาจราจรแออัดบนพื้นราบ หน้าหมอชิต 2 โดย BECL รับผิดชอบค่าก่อสร้าง ส่วนด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 59

นายณรงค์ เขียดเดช รองผู้ว่าฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณกลางปี 2559 ทั้งนี้ กทพ.ได้เจรจากับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ในการออกแบบและก่อสร้างทางเชื่อมต่อ (แลมป์) เพิ่มเติมในส่วนของทิศทางออกเมืองด้านเหนือไปยังถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทางประมาณ 300 เมตร เนื่องจากแบบเดิมนั้นแนวเส้นทางจากด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระราม 6 แล้ว จะมีทางเชื่อมในทิศทางเข้าเมืองเท่านั้น แต่ไม่มีทางเชื่อมทิศทางออกเมือง ดังนั้น รถที่ต้องการออกเมืองจะต้องลงพื้นราบเพื่อใช้ถนนด้านล่างซึ่งจะทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 และบางซื่อ ดังนั้น หากก่อสร้างแลมป์นี้ซึ่งเป็นทางยกระดับเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ไปยังแจ้งวัฒนะ โดยไม่ต้องลงพื้นราบ

เบื้องต้น BECL จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้าง โดย กทพ.จะเป็นจัดหาพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อขอใช้พื้นที่ในการก่อสร้างตอม่อเพิ่มเติมต่อไป

“ทางBECL ยินดีเป็นผู้ลงทุนในส่วนนี้เพิ่มเติม เพราะเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ใช้ทางด่วน เดิมไม่ได้ออกแบบไว้ เพราะคาดว่าทิศทางออกเมืองจะมีปริมาณรถไม่มาก แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีแนวโน้มมากขึ้น โดยทางเชื่อมส่วนนี้คาดว่าจะเปิดใช้หลังจากเปิดให้บริการทางด่วนศรีรัช-วงแหวนฯไประยะหนึ่ง”

ส่วนความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 16.92 ก.ม. วงเงินลงทุนประมาณ 25,000 ล้านบาท (ค่าเวนคืนประมาณ 2,000 ล้านบาท) นั้น กทพ.อยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ ใช้เวลาออกแบบ 10 เดือน คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ปลายปี 2559 โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเส้นทางนี้ กทพ.เสนอที่จะลงทุนเอง ส่วนรูปแบบอาจจะเป็นการตั้งกองทุนหรือใช้เงินกู้

นายณรงค์กล่าวว่า ในปี 2558 กทพ.มีรายได้จากการดำเนินงานประมาณ 13,700 ล้านบาท โดยได้จัดส่งเงินเข้าคลังสัดส่วน 40% ของกำไร หรือคิดเป็นเงิน 5,000 ล้านบาท โดยทางด่วนที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน 7 สายทาง 5 ทางเชื่อมต่อ รวมระยะทางกว่า 207.9 กิโลเมตร มีผู้ใช้ทางเฉลี่ยกว่าวันละ 1.8 ล้านเที่ยว สูงสุดถึงวันละ 2.1 ล้านเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น