xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้โกงบ้านกินเมืองดีสุดรอบ 6 ปี จ่ายใต้โต๊ะวูบเหลือ 1 แสนล้าน หลังคนไทย ธุรกิจลุกต้าน ข้าราชการกลัว ม.44

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลสำรวจคอร์รัปชันทั้งประเทศปี 58 ดีที่สุดรอบ 6 ปี นับจากสำรวจครั้งแรกปี 53 ส่วนเงินจ่ายใต้โต๊ะลดวูบเหลือเพียง 1 แสนล้าน ต่ำสุดในรอบ 6 ปีเช่นเดียวกัน หลังประชาชน ธุรกิจ ร่วมต่อต้านทุกรูปแบบ ข้าราชการกลัว ม.44 และ ป.ป.ช.-สตง.ทำงานจริงจัง

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีสถานการณ์คอรัปชันไทย (CSI) ที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั้งประชาชน ผู้ประกอบการและข้าราชการ รวม 2,400 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อเดือน ธ.ค. 2558 ว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 55 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน ดีขึ้นจากปี 2557 ที่มี 49 คะแนน และถือว่าปรับตัวดีขึ้นดีที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากการสำรวจครั้งแรกในปี 2553 ที่มีเพียง 35 คะแนน

ทั้งนี้ยังพบอีกว่า ปี 2558 เป็นปีที่มีความรุนแรงของปัญหาการคอร์รัปชันน้อยที่สุด นับจากเริ่มการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2553 หรือรุนแรงน้อยสุดในรอบ 6 ปีเช่นเดียวกัน และคาดว่าในปี 2559 ความรุนแรงของปัญหายังจะดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน คนส่วนใหญ่ยังมีจิตสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น โดยไม่เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องไกลตัวและไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ไม่เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่ารัฐบาลทุจริตแต่มีผลงานและทำประโยชน์ให้สังคมเป็นเรื่องที่รับได้ และการให้สินค้าหรือเงินพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เสียหาย

นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการคอร์รัปชัน มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น และสูงสุดในรอบ 6 ปี ส่งผลให้คนมีความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระอื่นๆ ดีขึ้น

นางเสาวณีย์กล่าวว่า การจ่ายเงินพิเศษให้แก่ข้าราชการ นักการเมือง เพื่อให้ได้สัญญางาน ลดลงเหลือเพียง 1-15% ของรายรับ ลดลงจากที่สำรวจครั้งแรกปี 2553 จนถึงปี 2556 ที่จ่ายมากถึง 25-35% และสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนมิ.ย.2558 ที่ลดลงเหลือ 5-15% โดยหากคิดจากงบประมาณรายจ่าย งบลงทุนปี 2558 ที่ 1.074 ล้านล้านบาท หากจ่ายพิเศษ 1-15% จะมีมูลค่าความเสียหายจากการคอร์รัปชันที่ 53,715-161,145 ล้านบาท คิดเป็น 0.39-1.18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากปี 2557 ที่จ่ายเงินใต้โต๊ะ 15-25% หรือราว 150,763-251,272 ล้านบาท หรือ 1.15-1.91% ของจีดีพี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2558 ผู้ประกอบการต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยที่ 10% คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญเสีย 100,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เพราะประชาชนและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังในการต่อต้านทุจริตทุกรูปแบบ ขณะที่ข้าราชการเกรงกลัวมาตรา 44 ธุรกิจสีเทาหรือผู้มีอิทธิพลลดลงมาก องค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช. และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่อย่างเข้มงวด จนทำให้การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2558 โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) ไทยได้ 38 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก จากปี 2557 ได้ 38 คะแนน อยู่อันดับ 85

“การสำรวจการจ่ายเงินใต้โต๊ะแก่ข้าราชการหรือนักการเมือง ยังมี 1-15% หรือคิดค่าเฉลี่ยที่ 10% คิดเป็นวงเงิน 100,000 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจเงินใต้โต๊ะในอดีตที่เอกชนต้องจ่ายเงินเฉลี่ย 25-35% หรือคิดเป็นเงิน 200,000-300,000 ล้านบาท ดังนั้น มาตรการต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่นำมาใช้ในการต่อต้านการคอร์รัปชันถือว่ามีทิศทางที่ดี เพราะปีนี้เงินใต้โต๊ะลดลงจากในอดีตถึง 100,000-150,000 ล้านบาท หากนำเงินดังกล่าวที่ลดลงจากการทุจริตมาพัฒนาเศรษฐกิจจะช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 0.7-1%” นายธนวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น