xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาปฏิรูป ศก.ไทยครั้งใหญ่ “ธปท.-ทีดีอาร์ไอ” จับมือสร้างโมเดลใหม่พัฒนาครบทุกมิติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ผลประชามติสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดลง เพราะจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ ส่วนผลที่สะท้อนว่าความขัดแย้งยังมีอยู่บ้าง ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่นักลงทุนรับรู้อยู่แล้ว เผยเตรียมเดินหน้าแผนปฎิรูป ศก. โดยจับมือกับ ทีดีอาร์ไอ สร้างโมเดลใหม่ในการพัฒนา ศก. คาดใช้ระยะเวลา 3 ปี เน้นแก้ปัญหาใน 3 มิติ ด้านเอกชนมั่นใจนานาชาติยอมรับไทยเพิ่มขึ้น แถมคนในประเทศกล้าจับจ่ายใช้สอย ประสานเสียงชัดเพิ่มความเชื่อมั่น ขับเคลื่อนเครื่องยนต์ภาคการลงทุนเดินได้เต็มสูบ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่ประชาชนส่วนใหญ่มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจระยะต่อไป เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองหมดลง เพราะจะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปที่วางไว้ และจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการลงทุน เพราะนักลงทุนทั้งไทย และต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลที่แตกต่างกันระหว่างภูมิภาคสะท้อนถึงความขัดแย้งที่มีอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทราบกันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ผลจากการรับประชามติยังส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนได้ชัดเจนจากการที่ดัชนีราคาหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นมากถึง 21 จุด ในช่วงเช้าวันนี้ (8 ส.ค.) ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 35.01-35.03 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการแข็งค่าระยะสั้นจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ

ขณะที่ปัจจัยภายนอกยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางค่าเงินบาท โดยเฉพาะการที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ดังนั้น ขอให้เอกชน และนักลงทุนอย่าชะล่าใจ เพราะปัจจัยภายนอกยังมีความสำคัญมาก

ขณะที่ในงานเสวนา “โมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ” นายวิรไท กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยประสบกับความผันผวนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยภายนอก และภายในประเทศ แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้น และความผันผวนจะลดลงบ้าง แต่การฟื้นตัวไม่กระจายทุกภาคส่วน และยังมีความเปราะบาง

ทั้งนี้ การมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ อาจทำให้ยังเผชิญปัญหาที่หนัก และใหญ่กว่าเดิม คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะแสดงอาการออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดต่ำลงเหลือเพียงร้อยละ 3-4 ต่อปี จากเดิมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 7-8 ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จนกลายเป็นว่าอัตราการเติบโตต่ำ เป็นภาวะปกติใหม่ของเศรษฐกิจ ทำให้ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และหลายประเทศมีรายได้ประชากรแซงหน้าประเทศไทย

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดการลงทุนเป็นเวลานาน ความล้าหลังด้านเทคโนโลยีการผลิต การขาดแรงงานทักษะ ความขัดแย้งทางสังคม ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถแก้ปัญหาระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การสร้างความกินดีอยู่ดีให้คนไทย ครอบคลุมถึงการกระจายรายได้ และมีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน มากกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ธปท.จึงร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสร้างโมเดลใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำการวิจัยเป็นระยะเวลา 3 ปี แนะนำการแก้ปัญหาใน 3 มิติ คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาวอย่างยั่งยืน

ด้าน นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยไม่สามารถแก้ได้ด้วยการเมืองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าประชาชนจะลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วเมื่อวานนี้ (7 ส.ค.) เพราะเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่การกระจายอำนาจการเมืองสู่ท้องถิ่น

ทั้งนี้ หลักการสำคัญของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ คือ การกระจายอำนาจทางการเมืองสู่ท้องถิ่นให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ เพื่อให้มีผู้นำชุมชนแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นเอง แต่ยอมรับว่าการที่ประชาชนรับร่างรัธรรมนูญจะทำให้มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งปีหน้า แต่จะมีผลเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการรับร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการรับคำถามพ่วงด้วยนั้น เป็นจุดสะท้อนสำคัญว่า คนส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปประเทศ และมีความชัดเจนที่รัฐบาลจะต้องเดินหน้าปฎิรูปประเทศให้ได้ตามกรอบเลือกตั้งภายในปีหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยอมรับของนานาชาติที่มีเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ไทยยังมีภาพติดขัดในกระบวนการเข้าสู่ประชาธิปไตยมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน

ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ รัฐบาลก็จะสามารถเดินหน้าได้เต็มที่โดยไม่ต้องกังวลประเด็นทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การจับจ่าย ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงไฮซีซันจะฟื้นตัวโดดเด่นขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.5 หรือสูงสุดตามกรอบที่ประเมินไว้ร้อยละ 3.0-3.5 แต่รัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนภายในปีนี้ 1.5 แสนล้านบาทถึง 2.0 แสนล้านบาท โดยจะต้องเร่งให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างกับภาคธุรกิจในพื้นที่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่โดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด รวมทั้งการส่งออกกลับมาขยายตัวได้โดดเด่น หรือขยายตัวได้ร้อยละ 2 ในช่วงครึ่งปีหลัง มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.6-3.7 แน่นอน

ส่วนในปีหน้าที่ประเทศไทย จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะได้รับผลดีจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เริ่มหาเสียงและลงพื้นที่ โดยคาดว่า จะมีเม็ดเงินเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจอีก 5 หมื่นล้านบาท มีผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3-0.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.5-4 ได้ต่อไป

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) กล่าวว่า หลังจากผลประชามติออกมาชัดเจน ทำให้ทั้งคนไทย และต่างชาติเกิดความมั่นใจว่า รัฐบาลจะเดินหน้าตามโรดแมปจนนำไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดการค้า การลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความคึกคักมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และเพิ่มความมั่นใจว่าจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น แต่เชื่อว่าคงยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนในปี 2560 แต่จะเห็นผลอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

“โครงการต่างๆ ที่มีแผนการลงทุนอยู่แล้ว เอกชนต้องการเห็นความชัดเจนมากขึ้น และไม่อยากให้รัฐบาลในอนาคตเข้ามาเปลี่ยนแปลง จากกรอบในปัจจุบันที่วางไว้ได้ดี ดึงดูดความสนใจในการลงทุนได้ดีอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยยังพึ่งพาการส่งออกอยู่มาก ทำให้สภาผู้ส่งออกฯ ยังมองว่า การส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 0 จนถึง -2 แต่หากไตรมาส 4 ปีนี้การส่งออกฟื้นตัวได้ ก็อาจจะติดลบไม่เกินร้อยละ 1 แน่นอน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผลประชามติที่รับรัฐธรรมนูญ ทำให้ภาพของประเทศไทยมีความชัดเจนมากขึ้น ต่างชาติมีความมั่นใจในการค้าขายกับไทยมากขึ้น เพราะมั่นใจในแนวทางประชาธิปไตยของไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนไทยก็มีความมั่นใจในการบริโภคมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น