สธ. เร่งจัดอบรมเจ้าหน้าที่ในสังกัดเข้าใจกฎหมาย ป้องกันทุจริต พร้อมปลูกจิตสำนึก หลังพบสถิติ 3 ปี จนท.สธ. ทุจริต 44 ราย
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอบรมผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกระดับ จำนวน 250 คน ระหว่างวันที่ 3 - 4 ก.ค. 2557 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในราชการ และปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริต ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ส่วนการแก้ไขยังไม่เป็นรูปธรรม และยังทวีความรุนแรง ซับซ้อนยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งจากผลการจัดอันดับค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน โดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีลดลง ตั้งแต่ปี 2541 - 2554 อยู่ในระดับต่ำที่ 32 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ในปี 2555 มี 37 คะแนน ในปี 2556 ลดลงเหลือ 35 คะแนน สะท้อนให้เห็นประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชันในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจะต้องเร่งแก้ไขป้องกันเป็นการด่วน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในส่วนของ สธ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯในส่วนกลางเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง และจะขยายไปยัง 12 เขตบริการสุขภาพในภูมิภาค และในกรุงเทพมหานครด้วย โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ในระยะที่ 2 พ.ศ. 2557 - 2560 มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ปลูกและปลุกจิตสำนึกให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับร่วมกันป้องกันและต่อต้านการทุจริต เน้นปรับเปลี่ยนฐานคิดและใช้หลักธรรมะเข้ามาช่วย ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการ 2. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จะฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเพื่อให้เป็นหูเป็นตาในการสอดส่องต่อต้านทุจริตในพื้นที่ 3. พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเฝ้าระวังทุจริต 4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในกลุ่มยา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์การแพทย์ให้โปร่งใส และ 5. การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง กฎหมาย แนวปฏิบัติ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
“จากการวิเคราะห์ปัญหาทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง พ.ศ.2550 - 2553 พบเจ้าหน้าที่กระทำผิด รวม 44 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายภาส ภาสสัทธา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นวิทยากรให้ความรู้ มั่นใจว่าหากบุคลากรมีความเข้าใจปัจจัยสาเหตุการเกิดคอร์รัปชันที่ถูกต้องครบถ้วน โอกาสการทุจริต ไม่โปร่งใสก็จะลดลง นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ในที่สุด” ปลัด สธ. กล่าว
วันนี้ (3 ก.ค.) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดอบรมผู้บริหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามทุจริตฯ จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกระดับ จำนวน 250 คน ระหว่างวันที่ 3 - 4 ก.ค. 2557 เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในราชการ และปลูกจิตสำนึกในการต่อต้านทุจริต ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน ส่วนการแก้ไขยังไม่เป็นรูปธรรม และยังทวีความรุนแรง ซับซ้อนยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งจากผลการจัดอันดับค่าดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน โดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีคะแนนดัชนีลดลง ตั้งแต่ปี 2541 - 2554 อยู่ในระดับต่ำที่ 32 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ในปี 2555 มี 37 คะแนน ในปี 2556 ลดลงเหลือ 35 คะแนน สะท้อนให้เห็นประเทศไทยยังมีปัญหาคอร์รัปชันในระดับสูง และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นจะต้องเร่งแก้ไขป้องกันเป็นการด่วน
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ในส่วนของ สธ. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตฯในส่วนกลางเป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง และจะขยายไปยัง 12 เขตบริการสุขภาพในภูมิภาค และในกรุงเทพมหานครด้วย โดยขณะนี้ได้จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ในระยะที่ 2 พ.ศ. 2557 - 2560 มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. ปลูกและปลุกจิตสำนึกให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับร่วมกันป้องกันและต่อต้านการทุจริต เน้นปรับเปลี่ยนฐานคิดและใช้หลักธรรมะเข้ามาช่วย ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมข้าราชการ 2. บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน จะฝึกอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขเพื่อให้เป็นหูเป็นตาในการสอดส่องต่อต้านทุจริตในพื้นที่ 3. พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการเฝ้าระวังทุจริต 4. พัฒนาระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในกลุ่มยา เวชภัณฑ์ ครุภัณฑ์การแพทย์ให้โปร่งใส และ 5. การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง กฎหมาย แนวปฏิบัติ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
“จากการวิเคราะห์ปัญหาทุจริตในกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง พ.ศ.2550 - 2553 พบเจ้าหน้าที่กระทำผิด รวม 44 คน ส่วนใหญ่เป็นระดับปฏิบัติงาน และปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเงิน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ นายภาส ภาสสัทธา อดีตรองเลขาธิการ ป.ป.ช. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่ปรึกษาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นวิทยากรให้ความรู้ มั่นใจว่าหากบุคลากรมีความเข้าใจปัจจัยสาเหตุการเกิดคอร์รัปชันที่ถูกต้องครบถ้วน โอกาสการทุจริต ไม่โปร่งใสก็จะลดลง นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้ในที่สุด” ปลัด สธ. กล่าว