ก.พลังงานซื้อเวลาเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ภายในไตรมาส 3/2559 ล่าช้ากว่าแผนเดิม โดยขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ก่อนส่งให้ สนช.ชี้ขาดและต้องนำไปใช้ได้จริง โดยจะเพิ่มจำนวนกรรมาธิการพิจารณ 30-35 คน เปิดให้ทุกฝ่ายส่งตัวแทนมาหารือ ด้าน กกพ.ยันปีนี้ตรึงค่าไฟเอฟที
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยความคืบหน้าการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับแก้ในประเด็นที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ก่อนที่จะเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยคาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นขอสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ที่ 21 ได้ในไตรมาส 3/2559 เลื่อนจากเดิมที่กำหนดไว้ในไตรมาส 2/2559
ทั้งนี้ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ที่จะเพิ่มจำนวนกรรมาธิการขึ้นมาเป็น 30-35 คนจากปกติเพียง 15 คนเท่านั้น เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อย่างกว้างขวาง และเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายส่งตัวแทนเข้ามาร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย โดยให้ สนช.เป็นผู้ตัดสินโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและการนำไปใช้ได้จริง
อย่างไรก็ตาม หากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับไม่แล้วเสร็จ จะส่งผลทำให้การเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 ต้องล่าช้าออกไปกว่าที่ระบุข้างต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเลื่อนมาจากปลายปีก่อน
โดยปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของไทยจะใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 4 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แบ่งเป็นก๊าซฯ ในอ่าวไทย 3 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเมียนมา 1 พันล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยจะลดการใช้ก๊าซฯ ในอ่าวไทยลง แล้วหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ราคา LNG ในตลาดจรปรับตัวลดลงมาก
พล.อ.อนันตพรกล่าวถึงสถานการณ์พลังงานปี 2559 ว่า กระทรวงพลังงานคาดการใช้น้ำมันสำเร็จรูปจะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% ซึ่งเป็นไปตามประมาณการณ์ตัวเลขสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะขยายตัว 3-4% โดยปีนี้การใช้น้ำมันเบนซินจะปรับเพิ่มขึ้น 9.7% ดีเซลเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)ปรับตัวลด 2.5% ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนที่ยอดการใช้แอลพีจีลดลง 5.4% โดยประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 35-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ส่วนการใช้น้ำมันสำเร็จรูปรวมทุกชนิดในปี 2558 พบว่าโตขึ้น 4.2% คิดเป็นปริมาณการใช้ 131.6 ล้านลิตร/วัน แบ่งเป็นเบนซิน 26.4 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 13.2% ดีเซลา 59.9 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 3.7% แอลพีจี 23.2 ล้านลิตร/วัน ลดลง 5.4% เนื่องจากโครงสร้างราคาLPGการสะท้อนต้นทุนราคาที่แท้จริง
ด้านแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าปี 2559 คาดว่าเพิ่มขึ้น 3.5% ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าว ทั้งนี้ ประมาณการว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ปี 2559 จะอยู่ไม่เกิน 29,000 เมกะวัตต์ และมีระดับเฝ้าระวังอยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สำหรับราคาก๊าซฯใ นช่วง พ.ค.-ส.ค.นี้ คาดว่าจะปรับลดลงได้ 6 บาท/ล้านบีทียู แต่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนหลังจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา ถ้าอยู่ระดับ 35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงทุก 1 บาทจะกระทบต่อค่าไฟ 5-6 สตางค์/หน่วย ภัยแล้ง และการใช้พลังงานทดแทนที่มีต้นทุนค่าไฟสูง ทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น แต่ กกพ.จะหาแนวที่จะตรึงอัตราค่าเอฟทีไม่ให้ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้
สำหรับในปี 2559 ไทยจะมีโรงไฟฟ้าใหม่จ่ายไฟเข้าระบบเพิ่มขึ้นหลายโรงคิดเป็นกำลังผลิตเพิ่ม 1,700 เมกะวัตต์
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเยตากุนที่พม่า ลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นในอนาคตจะต้องเพิ่มกำลังการแหล่งซอติกาเพื่อมาทดแทนไม่ให้กระทบการผลิตจากแหล่งยาดนา ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำในเมียนมาขนาด 3 ล้านตันเพื่อป้อนLNGให้ไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา ขณะเดียวกันก็จะเร่งสร้างท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 เชื่อมจากแอลเอ็นจี เทอร์มินอลที่ระยอง-วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา-ราชบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จในภายใน 5 ปีข้างหน้า
ส่วนกรณีที่รัฐเตรียมลอยตัวก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในเดือน ก.พ.นี้ ทาง ปตท.พร้อมที่จะขายสถานีบริการ NGV หากมีเอกชนสนใจ จากปัจจุบันที่บริษัทฯไม่มีนโยบายขยายสถานีบริการ NGV เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้เต็มที่ ขณะเดียวกันปตท.ยังคงอุดหนุนราคา NGV ให้กับรถเท็กซี่และรถสาธารณะที่กิโลกรัมละ 10 บาทต่อไประยะหนึ่ง จนกว่ากระทรวงพลังงานจะนำกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนในส่วนนี้แทน ที่ผ่านมา ปตท.รับภาระ NGV ปีละ 1.1 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงทำให้คาดการณ์ภายในปีนี้ต้นทุนราคา NGV จะปรับลดลง 2-2.50 บาท/กิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายเอ็นจีวีลดลงได้ 1-1.50 บาท/กิโลกรัม จากปัจจุบันต้นทุน NGV อยู่ที่ 14.00 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีก NGV อยู่ที่ 13.50 บาท/กิโลกรัม