xs
xsm
sm
md
lg

“ทีวีดิจิตอล” แข่งดุรับศึกปีวอก “บรอดแบนด์” ทางออกใหม่ทีวีดาวเทียม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - ส่องอุตสาหกรรมทีวีรับปี 2559 แข่งดุ ปรับผังกันทุกไตรมาสเพื่อตอบสนองอารมณ์คนดูให้ได้ดีมากที่สุด คาดว่างบคอนเทนต์สะพัดไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ฟาดหางสะเทือนเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียม เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ปัญหาซีทีเอชยังคาราคาซัง ต้องดิ้นตายชูบรอดแบรนด์กู้ชีพรั้งฐานสมาชิกให้อยู่มือ ฟันธงเม็ดเงินสื่อทีวีโตไม่เกิน 5%

ดาวรุ่งในสมรภูมิอุตสาหกรรมโทรทัศน์ตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา แสงไฟทุกดวงต่างสาดไปที่กลุ่มทีวีดิจิตอลกันหมด ซึ่งมีทั้งเรื่องที่ส่องประกายและเรื่องที่อยู่ในมุมมืดมาเป็นหัวข้อในการแข่งขันได้ตลอดทั้งปี แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีแต่เสียงโอดครวญ แต่ถือว่า ทีวีดิจิตอลยังคงเป็นลูกรักของ กสทช.มากที่สุด เมื่อเทียบกับบรอดคาสติ้งโดยรวม ในทางกลับกันเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมเป็นกลุ่มที่ต้องดิ้นรนในสถานการณ์บีบรัดจากการปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทีวีไทย ในยุคที่คอนเทนต์คือลมหายใจของหน้าจอทีวี

เมื่อก่อนสิ้นปีที่แล้ว 2558 ทาง กสทช.ส่งท้ายปีกับงานสำคัญของปีนี้ที่ กสทช. คือ ร่างประกาศฯ เรียงช่องใหม่ ที่มีการจัดเรียงช่องทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะและธุรกิจ ที่หมายเลข 1-36 เหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเปิดศักราชการแข่งขันของทีวีดิจิตอลได้อย่างเข้ารูปเข้ารอยสักที อันจะนำมาซึ่งปี 2559 เป็นปีเผาจริง ไม่ได้มาเล่นๆ อย่างช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา

นอกจากผู้คุมกฎจะออกตัวผลักดันทีวีดิจิตอลแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างก็พร้อมขยับตัวปลุกทีวีดิจิตอลให้ออกวิ่งให้ได้ในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็น สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MATT) ในการสนับสนุน สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ(ประเทศไทย) หรือ MRDA ในการเซ็นสัญญาว่าจ้าง กันตาร์มีเดีย เข้ามาดำเนินการวัดเรตติ้งในทุกๆ แพลตฟอร์ม ซึ่งกันตาร์มีเดียจะเริ่มดำเนินการทำวิจัยตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป และเริ่มนำข้อมูลมาใช้จริงได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เป็นต้นไป เพื่อจะทำให้เกิดค่าตัวเลขเรตติ้งที่เที่ยงตรงและนำมาใช้ชี้วัดได้จริง พร้อมสร้างความมั่นใจให้แก่เหล่าเอเยนซีและเจ้าของสินค้าในการใช้เม็ดเงินเพื่อลงโฆษณาในช่องทีวีดิจิตอลในปี 2559 นี้ จากสิ้นปี 2558 ตัวเลขรวมการใช้เม็ดเงินจริงในทีวีดิจิตอลอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด
**ทีวีดิจิตอลสะพัด 5,000 ล้านปรับผังทุกไตรมาส
ขณะที่หมากตัวสำคัญที่สุดของทีวีดิจิตอล คือ สถานีโทรทัศน์ทีวีดิจิตอลทั้งหมด ในปี 2559 จะได้เห็นโพซิชันนิ่งที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งกลุ่มช่องใหม่และช่องใหญ่เจ้าตลาด งานนี้เดือดจริงไม่มีใครนั่งนิ่งติดเก้าอี้อีกต่อไป

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เปิดเผยว่า แนวโน้มของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลในปี 2559 จะได้เห็นความชัดเจนของแต่ละช่องมากขึ้น มีการครีเอทีฟมากขึ้น เพื่อทำให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจและมีเรตติ้ง แต่ในแง่งบประมาณการลงทุนด้านคอนเทนต์ทั้งหมดของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลอาจจะไม่ถึง 5,000 ล้านบาท แต่ในแง่การแข่งขันจะดุเดือดมากขึ้น

“คอนเทนต์ดีๆ ในปีนี้จะมีมากขึ้น ผังทีวีดิจิตอลจะมีการปรับใหม่ทุกๆ 3 เดือนเพื่อดึงดูดเม็ดเงินโฆษณา แต่จะอยู่ในงบประมาณที่ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะต้องเริ่มจ่ายค่างวดสัมปทานครั้งใหม่และค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มเข้ามาอีก ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของปี 59 ที่ยังไม่ดีขึ้น เอเยนซีและเจ้าของสินค้าเองมองเรื่องการประหยัดงบโฆษณาเป็นหลัก การแข่งขันทางด้านราคาจะยังคงนำมาใช้ ภาพรวมมูลค่าโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลในปี 59 จึงน่าจะยังทรงตัวไม่แตกต่างไปจากปี 58 ที่ผ่านมา”
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด
สอดคล้องกับทางช่องใหญ่จากฝั่งพระรามสี่ โดย นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ผู้บริหารช่อง 3 กล่าวว่า แนวโน้มสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีขึ้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่อาจทำให้ปี 2559 มูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อทีวีอาจโตไม่เกิน 5% โดยการแข่งขันของทีวีดิจิตอลจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ในส่วนของช่อง 3 เองจะให้ความสำคัญต่อช่อง 3SD และช่อง 3 แฟมิลี่มากขึ้น มีคอนเทนต์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา ให้ความสำคัญต่อคอนเทนต์กีฬาและรายการข่าวมากขึ้น
นายเกษม อินทร์แก้ว อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
**ทีวีดาวเทียมชูบรอดแบรนด์กู้ชีพ**
จากแนวโน้มทีวีดิจิตอลที่ดูสดใส แต่สำหรับเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมกลับมีอาการน่าเป็นห่วง เพราะได้รับผลพวงของการยื้อแย่งแข่งซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์กีฬาดังอย่างพรีเมียร์ลีก จนเกิดเป็นมหากาพย์ซีทีเอชแทงหลังเคเบิลภูธร ถือเป็นอีกเหตุการณ์ที่ทำให้วงการโทรทัศน์ปี 58 ร้อนแรงในทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงร่างประกาศฯ เรียงช่องใหม่ ที่มีการจัดเรียงช่องทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะและธุรกิจ ที่หมายเลข 1-36 เหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ปี 2559 กลุ่มแพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีจะต้องหาทางอยู่รอดต่อไปให้ได้

นายเกษม อินทร์แก้ว อดีตนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท นวมินทร์เคเบิลทีวี จำกัด กล่าวว่า เคเบิลทีวียังมีปัญหาคาราคาซังกับทาง CTH อยู่ บวกกับเรื่องการเรียงช่องตามร่างประกาศฯ ที่ กสทช.กำหนดออกมานั้น อาจจะมีกลุ่มเคเบิลทีวีรายย่อยที่มีจำนวนช่องน้อยๆ ไม่เกิน 60 ช่องอีกกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน ซึ่งมีกว่า 100 ราย จากจำนวนเคเบิลโอเปอเรเตอร์ทั่วประเทศกว่า 200 ราย ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ปี 2559 ต้องปรับตัวแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

“การเกิดทีวีดิจิตอลส่งผลทางอ้อมต่อแพลตฟอร์มเคเบิลทีวี บวกกับกำลังซื้อที่ยังคงนิ่ง อาจส่งผลต่อฐานสมาชิกใหม่และสมาชิกเดิมที่จะหายไป เจ้าของเคเบิลหลายรายจึงต้องมองหาบริการใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น เช่นเรื่องของอินเทอร์เน็ตและบรอดแบรนด์ที่จะมีเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมจากการรับชมปกติในปี 2559 นี้”

เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มจานดาวเทียม PSI ผู้ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเรียงช่องใหม่มากที่สุด จากก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น และ PSI ได้ขอใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง จึงมีการคิดค่าเลขช่องจากลูกค้าบางราย ดังนั้นพอมีเรื่องการเรียงเลขช่องทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น PSI จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบสูงสุด และต้องมีกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจใหม่ๆ มานำเสนอในปี 2559 เช่นกัน

นายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอสไอ บรอดคาสติ้ง จำกัด กล่าวว่า ทาง PSI ยังพร้อมลงทุนอย่างต่อเนื่องในปี 2559 ซึ่งมองว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ในการนำเสนอกล่องรับสัญญาณ 2 รุ่น คือ 1. กล่องรุ่น HD จากภาพรวมตลาดที่พบว่าคุณภาพโทรทัศน์ในปัจจุบันอยู่ในระดับคมชัดแบบฟูล HD สูงมาก บวกกับโทรทัศน์ประเภท LCD TV มีราคาถูกลงจับต้องได้ 3,000-5,000 บาท ก็สามารถหาซื้อ LCD TV ขนาดใหญ่ได้ 2. กล่อง IPTV เทคโนโลยีการรับชมทีวีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ถือเป็นก้าวใหม่ของวงการทีวีที่มองว่าเป็นตลาดที่กำลังมาและมีโอกาสเติบโตสูงมาก จากอินฟราสตรักเจอร์ด้านโทรคมนาคมของไทยที่กำลังดีขึ้น เชื่อว่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่น่าจะทำให้ปีหน้าบริษัทจะกลับมามีรายได้เติบโตอีกครั้ง จากรายได้รวมในปี 2558 ที่น่าจะเหลือเพียง 2,000-2,100 ล้านบาท ลดลง 30% ใครที่ว่าปี 58 วงการทีวีไทยแข่งขันกันอย่างดุเดือดแล้ว ในปี 2559 เชื่อแน่ว่าจะยิ่งดุเดือดมันหยดติ๋งยิ่งกว่าเดิม แถมเรื่องประหลาดใจให้ได้ติดตามกันอีกตลอดปี นั่นเพราะมูลค่ารวมของสื่อทีวีมันมีมูลค่ามหาศาล ต่อปีไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท

นี่แค่เฉพาะมูลค่ารายได้โฆษณาจากสื่อทีวีเท่านั้น !

ส่วนในแง่รายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น รายได้จากค่าสมาชิกรับชม รายได้จากการขายคอนเทนต์ ยิ่งส่งผลให้เค้กก้อนนี้มีแต่ใหญ่ขึ้นทุกปี และมีแต่คนอยากลิ้มลอง พร้อมลงแข่งในสนามแห่งนี้ สุดท้ายใครจะได้ครอง ศึกนี้ต้องดูกันอีกยาว



กำลังโหลดความคิดเห็น