อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลปลุกตลาดวิจัยเรตติ้งทีวีดิจิตอล 5 ปีนี้ทะลุ 1,600 ล้านบาท “นีลเส็น” ดิ้นสุดตัวทุ่ม 100 ล้านบาทเพิ่มเครื่องมือการวัดเข้าถึงแพลตฟอร์มใหม่ หวังรั้งลูกค้าไว้อยู่มือ ฟาก “กันตาร์ มีเดีย” พร้อมแจ้งเกิดด้วยงบ 1,500 ล้านบาท โชว์ฝีมือวัดเรตติ้งทีวีรวม ด้วยกลุ่มตัวอย่าง 3,000 รายทั่วประเทศ หลังจากที่ “กสทช.” ไฟเขียวอัดงบฯ ช่วย 370 ล้านบาท
อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลในปีที่สองนี้ถือเป็นปีที่คึกคักมากที่สุดปีหนึ่ง ทั้งในส่วนผู้ประกอบการเองที่เริ่มอัดฉีดคอนเทนต์ชิงพื้นที่เรตติ้งกันอย่างแข็งขันไม่มีใครยอมใคร ส่งผลให้เม็ดเงินด้านคอนเทนต์สะพัดไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทในปีนี้ นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็พร้อมลงทุนกันอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทที่ทำหน้าที่วิจัยโฆษณาและเรตติ้งโทรทัศน์
จากเดิมในรอบ 20-30 ปีที่ผ่านมา “นีลเส็น” ถือเป็นเจ้าตลาดที่กินรวบงานวิจัยเรตติ้งทีวีแต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลเปลี่ยนไป ผลวิจัยเรตติ้งทีวีต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตามเช่นกัน เพื่อหาค่าเรตติ้งที่มีความแม่นยำและเป็นจริงมากที่สุด จากการที่ตลาดใหญ่ขึ้น จำนวนช่องมากขึ้น และแพลตฟอร์มการรับชมมีมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดวิจัยเรตติ้งทีวีดิจิตอลและโฆษณาร้อนขึ้นมาในทันที มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา ส่งผลให้เชื่อว่า 5 ปีหลังจากนี้จะมีเม็ดเงินสะพัดในส่วนงานวิจัยเรตติ้งทีวีร่วม 1,600 ล้านบาท
ที่ผ่านมา “นีลเส็น” เป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีการเปิดตัว หรือแถลงข่าวมากนัก ยกเว้นนำเสนอข้อมูลที่เป็นสาธารณะได้ รวมถึงให้บริการลูกค้าโดยตรงนั้น ล่าสุดในปีนี้มีการขยับตัวครั้งใหญ่ มีการเปิดตัวแถลงข่าวมากขึ้น พร้อมทุ่มงบลงทุนเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นแผนที่เตรียมตัวมาตั้งแต่ปลายปีก่อน สำหรับเพิ่ม 2 บริการการวัดเรตติ้งทีวีใหม่ หวังดึงลูกค้าไว้ไม่ให้หลุดมือ พร้อมทั้งมีการอัปเดตแผนงานต่างๆเปิดเผยสู่สาธารณชนให้รับทราบกันมากขึ้น ล่าสุดภายในสัปดาห์นี้จะมีการนำเสนอความคืบหน้าและแผนงานบริการใหม่อีกด้วย
นายสินธุ์ เภตรารัตน์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาผลการวิจัยเรตติ้งทีวีของทางนีลเส็นมาจากกลุ่มตัวอย่างที่ 1,800 ครัวเรือน หรือประมาณ 6,300 คน ซึ่งเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทำให้ในปีนี้ได้เพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างเป็น 2,200 ครัวเรือน หรือราว 7,700 คน และเริ่มใช้วัดผลวิจัยตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
นัยสำคัญของการเพิ่มกลุ่มตัวอย่างขึ้นมาอีก 400 ครัวเรือน จนกลายเป็น 2,200 ครัวเรือนครั้งนี้ ส่วนสำคัญเพื่อรองรับบริการใหม่ 2 บริการ คือ การวัดเรตติ้งในกลุ่มการรับชมผ่านช่องทางอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหน้าจอโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการรับชมผ่านมือถือ แท็บเล็ต หรือออนไลน์ในช่องทางต่างๆ เป็นต้น รวมแล้วใช้งบกว่า 100 ล้านบาท ในการเพิ่ม 2 บริการใหม่ที่จะเริ่มใช้ในปลายปีนี้ คือ 1. การวัดเรตติ้งในกลุ่มมัลติสกรีน และ 2. การวัดเรตติ้งในจอพีซีและทีวี
ปัจจุบันลูกค้าหลักของ “นีลเส็น” คือช่องทีวีทั้งฟรีทีวีเดิมและทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง และเอเยนซีระดับท็อป 5 บริษัท ซึ่งปัจจุบันยังคงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อยู่ แม้ว่าสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทยได้ตั้งหน่วยงาน Media Research Bureau ขึ้นมาดูแลการวัดเรตติ้งทีวีดิจิตอล แต่ลูกค้าที่ยังใช้บริการกับนีลเส็นไม่ได้ลดลง ทั้งนี้ มองว่าหากมีบริษัทขึ้นมาวัดเรตติ้งถึง 2 ราย ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้าในตอนนั้นแล้วว่าจะเลือกใช้ข้อมูลจากทางใด
*** ลุ้น “กันตาร์” ลุยวิจัย MRB 1,500 ล้านบาท ***
ขณะที่ “นีลเส็น” พร้อมลงทุนต่อเนื่อง 100 ล้านบาท ด้านสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ได้ตัดสินให้ “กันตาร์ มีเดีย” เป็นผู้ชนะในการประมูลดูแลหน่วยงาน Media Research Bureau หรือ MRB ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดด้านการวิจัยเรตติ้งทีวีร่วม 1,600 ล้านบาท ซึ่ง MRB ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจาก MATT ได้ขอรับการสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งระบบการวัดเรตติ้งใหม่ในวงเงินประมาณ 370 ล้านบาท และค่าข้อมูลรายปีอีก 5 ปี กสทช.จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บอร์ด กสท. จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดกองทุนฯ ซึ่งกระบวนการพิจารณาจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ส.ค.- ก.ย. 58 คาดว่า กสทช.พร้อมให้การสนับสนุน และ MRB จะสามารถติดตั้งระบบวัดเรตติ้งใหม่ทั่วประเทศได้ภายในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ “กันตาร์ มีเดีย” จะพร้อมดำเนินงานทันที โดย นางวรรณี รัตนพล ประธานบริหาร ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ในฐานะนายกสมาคมมีเดียเอเยนซีและธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่า ขั้นแรกในช่วง 1 ปีหลังจากนี้ “กันตาร์ มีเดีย” จะสุ่มหาตัวอย่าง 30,000 รายเพื่อรวบรวมข้อมูล ก่อนจะสุ่ม 3,000 รายจาก 30,000 ราย เพื่อติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์วัดเรตติ้ง หรือประมาณเดือนกันยายน 2559 จะสามารถเริ่มใช้ข้อมูลจากการวิจัยได้
นางวรรณีย้ำชัดว่า เมื่อข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ สมาคมมีเดียเอเยนซี่ฯ จะใช้ข้อมูลนี้เป็นตัวกลางในการตัดสินใจซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนโฆษณา แทนผู้เก็บข้อมูลเรตติ้งทีวีรายเดิม คือ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ทันที หรือน่าจะเริ่มได้ไม่เกินไตรมาสที่ 4 ปี 2559 โดยการจัดตั้ง MRB ครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันของ 1. ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จำนวน 22 ช่อง 2. ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี จำนวน 25 ช่อง ยกเว้นช่อง 7 3. ทรูวิชั่นส์ จำนวน 11 ช่อง 4. มีเดียเอเยนซี 22 แบรนด์ เช่น เดนท์สุ มีเดีย, แม็กซัส, มีเดียคอม, มายด์แชร์ เป็นต้น
*** ศึกแห่งศักดิ์ศรี “ทีวีนี่นี้ใครครอง” ***
แน่นอนว่าการลงทุน 100 ล้านบาทครั้งนี้เป็นการยืดชะตาของ “นีลเส็น” ออกไปอีก 1 ปีข้างหน้า จนกว่า “กันตาร์ มีเดีย” จะเริ่มเข้ามาทำการวิจัยเรตติ้งทีวีดิจิตอลได้อย่างสมบูรณ์แบบตามแผนงานที่วางไว้จากสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กสทช.ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนว่าจ้างให้เกิดหน่วยงาน Media Research Bureau หรือ MRB
ถึงเวลานั้นเค้กวิจัยก้อนใหญ่อาจจะกลายเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีและอาจจะต้องมีการแย่งชิงชิ้นเค้กกันอย่างดุเดือดเพียงใด เป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง โดยผู้ได้ประโยชน์และผู้คุมเชิงคือ ทีวีทั้ง 24 ช่อง รวมถึงเอเยนซีที่ซื้อข้อมูลผลการวิจัยจะมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าที่ผ่านๆ มา