xs
xsm
sm
md
lg

ขู่ “ช่อง 7-8” มาช้า! จ่ายเรตติ้งแพง 25%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“วรรณี รัตนพล” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)
ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมมีเดียฯ รวมสมาชิก 91 ราย เดินหน้าจัดตั้ง MRDA ขอรับเงินสนับสนุนการวัดเรตติ้ง 368 ล้านบาทจาก กสทช. จ่อเซ็นสัญญาว่าจ้าง “กันตาร์ มีเดีย” 16 ธ.ค. 58 ขู่ใครเข้าร่วมภายหลังต้องจ่ายแพงกว่าสมาชิกทั่วไป 25%

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการสมาคมฯ ซึ่งประกอบด้วย มีเดียเอเยนซี ผู้ผลิตสื่อ สมาคมทีวีดิจิตอล (ประเทศไทย) สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการจัดตั้ง “สมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ” (ประเทศไทย) หรือ Media Research Development Association (Thailand) หรือ MRDA ซึ่งมี นายสุภาพ คลี่ขจาย ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม

MRDA ถือเป็นหน่วยงานนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและกำกับงานวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาที่กำลังจะมอบหมายให้ บริษัท กันตาร์ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนในการดำเนินการทำวิจัยค่าความนิยม หรือเรตติ้งในทุกๆ แพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย และสื่ออื่นๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐานซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในประเทศไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ากับธุรกิจสื่อในระดับสากล

ปัจจุบันสมาชิกสมาคมฯ มีทั้งสิ้น 91 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการเอเยนซี 26 ราย ฟรีทีวี 21 ราย ทีวีดาวเทียม 17 ราย เคเบิลทีวี 11 ราย ทรูวิชั่นส์ 11 ราย ทีวีสาธารณะ 2 ราย ทีวีชอปปิ้ง 2 ราย และอื่นๆ 2 ราย คือ ไทยคม และกูเกิล โดยมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายที่ไม่ได้เข้าร่วม คือ ช่อง 7 และช่อง 8 ของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)

นางวรรณีกล่าวว่า การดำเนินงานขั้นตอนต่อไปของสมาคมฯ คือการลงนามในสัญญาว่าจ้างในการวัดเรตติ้งอย่างเป็นทางการกับ บริษัท กันตาร์ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 16 ธ.ค.ศกนี้ หลังจากนั้นจะดำเนินการขอรับการสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งระบบการวัดเรตติ้งใหม่ในวงเงิน 368 ล้านบาทจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก่อนที่จะชำระค่าจ้างงวดแรกให้ บริษัท กันตาร์ฯ ประมาณ 15 ล้านบาทในช่วงต้นปี 2559 โดยจะเริ่มดำเนินการสุ่มหาตัวอย่างเพื่อรวบรวมข้อมูลจำนวน 3 หมื่นราย ก่อนจะสุ่ม 3 พันรายเพื่อติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์วัดเรตติ้ง เพื่อให้สมาชิกสมาคมฯ สามารถใช้ข้อมูลจากการวิจัยได้ประมาณปี 2560

“หลังจากที่ข้อมูลการทำวิจัยวัดเรตติ้งของ MRDA แล้วเสร็จ สมาคมมีเดียฯ จะมีการรับรองข้อมูลและใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นมาตรฐานในการกำหนดราคาซื้อขายในอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาทุกแพลตฟอร์ม โดยข้อมูลเรตติ้งดังกล่าวจะแสดงเฉพาะสื่อที่เข้าร่วมสนับสนุนการทำวิจัยเท่านั้น โดยหากผู้ประกอบการรายใดต้องการเข้าร่วมสมาคม MRDA ภายหลังจากที่ชำระค่าจ้างงวดแรกให้บริษัท กันตาร์ฯ แล้ว จะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าสมาชิกทั่วไป 25%”

นางวรรณีกล่าวด้วยว่า สมาคมฯ มีการจัดทำฐานข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการวัดเรตติ้งครั้งใหม่พบว่า ในกรณีที่ช่อง 7 และช่อง 8 ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก MRDA ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการวัดเรตติ้ง แต่จะถือเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจของช่อง 7 และช่อง 8 เพราะลูกค้า หรือเจ้าของสินค้าจะไม่มีข้อมูลใดๆ ประกอบการพิจารณาในการลงโฆษณา โดยเม็ดเงินโฆษณาในสื่อโทรทัศน์จะกระจายไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีมากขึ้น ขณะเดียวกันราคาที่ต้องใช้ต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย หรือ CPRP (Cost Per Rating Point) ยังต่ำลงด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาสื่อโฆษณาโทรทัศน์มีเม็ดเงินโฆษณาประมาณ 1.1 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 6% คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.3 แสนล้านบาทในสิ้นปี 2558 โดยคาดว่าในปี 2559 หากอัตราการเติบโตของจีดีพีมีประมาณ 2.5% จะส่งผลให้สื่อโฆษณาโทรทัศน์เติบโตขึ้น 4-5% โดยมีปัจจัยที่น่าวิตกคือกำลังซื้อของผู้บริโภคในต่างจังหวัดและสถานการณ์ทางการเมืองและภาวะสงครามที่อาจเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ
“สุภาพ คลี่ขจาย” นายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย)
ด้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข้อมูลของการวิจัยที่ถูกต้องจะมีส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค ทั้งในแง่ของคอนเทนต์และรูปแบบของรายการ รวมถึงการบริโภคสื่อผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ผลิตและเจ้าของสื่อที่จะสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่กลุ่มนักการตลาดและกลุ่มมีเดียเอเยนซีก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วยข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังจะมีประโยชน์ต่อวงการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสื่อโฆษณา เพราะสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เข้าใจในธุรกิจนี้มากยิ่งขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น