xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมมีเดียฯ ปรับเกมสู้ช่อง 7 ใหม่ ชง “กสทช.” ของบเรตติ้งอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“วรรณี รัตนพล” นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT)
ผู้จัดการรายวัน360- สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย แก้เกมศึกชิงวัดเรตติ้งสื่อโฆษณา เปลี่ยนสถาบัน MRB มาเป็น MRDA ยื่น กสทช. ขอความช่วยเหลืออีกครั้งภายในเดือนพ.ย.ศกนี้ หลังช่อง 7 ติง ชี้ทั้งปีอุตสาหกรรมโฆษณาส่อเค้าติดลบ 5-10%

นางวรรณี รัตนพล นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ช่อง 7 ได้ท้วงติงว่า MRB หรือสถาบันวิจัยและพัฒนาสื่อ (Media Research Bureau) ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่สามารถร้องขอให้ กสทช. ช่วยเหลือได้ ทำให้ในช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ปรับ MRB มาเป็น MRDA หรือสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรอิสระดูแลการวัดเรตติ้งสื่อทั้งหมดต่อไป โดยปลายสัปดาห์นี้จะประชุมหารือกันจากนั้นจะเริ่มพูดคุยกับ กสทช. ว่า กสทช. จะช่วยอะไรได้บ้าง

“กสทช. ตีความว่า ไม่ว่า MRB จะปรับเปลี่ยนมาเป็นสมาคม หรือองค์กรในชื่ออะไรก็ตามก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เพราะไม่ใช่นิติบุคคล แต่จากการเปลี่ยนมาเป็น MRDA ซึ่งสมาชิกประกอบไปด้วย 1.เอเจนซี่ 20 ราย 2.สถานีโทรทัศน์ 23 ช่อง (รวมช่อง 8 ที่กำลังจะเข้ามา แต่ไม่รวมช่อง 7) 3.ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี 25 ช่อง และทรูวิชั่น 11 ช่อง รวมถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในช่องทางอื่นๆ เช่น กูเกิ้ล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลทั้งสิ้น”

สมาคมฯ จะขอความช่วยเหลือจาก กสทช. เช่น ให้ช่วยสถานีโทรทัศน์ช่องเล็กที่อาจจะมีเงินทุนไม่พอ จากเดิมก่อนหน้านี้ MRB ได้ขอทุนช่วยเหลือจาก กสทช. เป็นมูลค่ากว่า 370 ล้านบาทในการช่วยลดภาระที่สมาชิกต้องแบกรับในการจ้าง บริษัท กันตาร์ มีเดีย จำกัด ให้เข้ามาดูแลการวัดเรตติ้งสื่อ ด้วยการเซ็นสัญญาว่าจ้างไว้เป็นเวลา 5 ปี แต่ กสทช. ปฏิเสธ

การว่าจ้างให้ กันตาร์ มีเดีย เข้ามาดูแลเรื่องการวัดเรตติ้งอยู่ในช่วงของการหากลุ่มตัวอย่าง โดยภายในเดือน พ.ย.ศกนี้ จะมีการเซ็นสัญญากับ กันตาร์ มีเดีย และเริ่มดำเนินการหากลุ่มตัวอย่าง 3 หมื่นรายตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีหน้าเป็นต้นไป

การเปลี่ยน MRB มาเป็น MRDA มีข้อดีคือ 1.เพิ่มจำนวนผู้ที่วัดเรตติ้งรายใหม่เข้ามาจากปกติมีอยู่เพียงรายเดียว เพราะ MRDA จะมี 3 หมื่นตัวอย่าง และจะนำ 10% ของตัวอย่างมาใช้รายงานผลเรตติ้งจากทุกดีไวซ์ และในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 2 หมื่นราย ส่งผลให้ข้อมูลที่ได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นไปอีก 2.MRDA ถือเป็นสมาคมฯที่อุตสาหกรรมโทรทัศน์โดยรวมเป็นเจ้าของข้อมูล ไม่ใช่ของบริษัทวิจัยรายใดรายหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่มีการแสวงหาผลกำไรจึงช่วยลดต้นทุนในการว่างจ้างงานวิจัยได้ถูกลง

*** สื่อตกฮวบ 5-10% ***
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2558 เชื่อว่าจะติดลบ 5-10% มาจากสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่งผลให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดไม่มีเงิน จึงทำให้การจับจ่ายใช้สอยลดลง จะเห็นได้ว่ากลุ่มสินค้า FMCG หรือสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เริ่มลดงบการแผนสื่อโฆษณาลงไปแล้ว ส่วนในปี 2559 ภาครัฐประเมินการเติบโต GDP ของประเทศไว้ 2.5% จะทำให้อุตสาหกรรมโฆษณากลับมาโตได้ 4-5% หรือสูงกว่าค่า GDP 2เท่า

“ในครึ่งปีแรกสถานการณ์ยังทรงตัวเพราะสภาพเศรษฐกิจไม่ดี รวมถึงสถานการณ์ภายนอกประเทศ ตลอดจนเรื่องของการระเบิดในฝรั่งเศสและเหตุการณ์การก่อการร้ายในประเทศอื่นๆ ที่อาจจะมีขึ้นอีก อาจจะส่งผลต่อเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มสินค้าอินเตอร์แบรนด์ที่จะลดงบลงตามไปด้วย” นางวรรณี กล่าวในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น