ทอท.เขย่างบลงทุนสุวรรณภูมิเฟส 2 จาก 6.2 หมื่นล้าน เหลือ 5.16 หมื่นล้าน เฉพาะค่าก่อสร้างปรับแยกงานเป็น 6 สัญญา ตัดค่านายหน้าเครื่อง X-Ray ระบบขนส่ง APM ทำให้ลดจากกรอบเดิม 4.9 หมื่นล้าน เหลือ 4.3 หมื่นล้าน ทยอยส่ง คตร.ตรวจทีโออาร์ 3 สัญญาแรก ตั้งเป้าเปิดประมูล ก.พ.-มี.ค.59 ได้ผู้รับจ้าง มิ.ย.59 ตะลุยก่อสร้างตามแผนเปิดใช้ มิ.ย.62
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 62,503.214 ล้านบาท (รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 1,761.60 ล้านบาท) มีเป้าหมายเพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 60 ล้านคนต่อปี โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2553 อนุมัติโครงการ ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี (2559-2563) กำหนดเปิดให้บริการในเดือน มี.ค.2562 โดยล่าสุด ได้มีการปรับลดกรอบวงเงินรวมลงตามปัจจัยต้นทุนที่ลดลงเหลืออยู่ที่ 51,607.17 ล้านบาท ลดลงกว่า 10,000 ล้านบาท
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้งานล่าช้ากว่าแผนเดิมเล็กน้อยประมาณ 1-2 เดือน แต่ยังอยู่ในกรอบเวลา โดยกำหนดจะต้องเปิดประกวดราคางานแรกภายในเดือน ก.พ.2559 เป็นอย่างช้า ทั้งนี้ เนื่องจากมีการทบทวนเพื่อปรับลดราคาลงจากต้นทุนที่ลดลงให้มากที่สุด และปรับแยกสัญญางานระบบสายพานลำเลียง งานเครื่องตรวจวัตถุระเบิด และงานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) ซึ่งเดิมรวมกันออกเป็น 4 สัญญา เพื่อตัดปัญหาเรื่องนายหน้าเครื่องตรวจวัตถุระเบิด (X-Ray) ออก อีกทั้งแก้ปัญหากรณีผู้รับเหมางานก่อสร้าง เสนอราคาประมูลต่ำเพื่อให้ได้รับคัดเลือก แต่สุดท้ายไปปรับลดราคา และค่าซ่อมบำรุงเครื่องตรวจ X-Ray ในระยะยาว ดังนั้น จึงแยกสัญญาจัดหาเครื่อง X-Ray ออก เพื่อใหผู้ผลิตตรงยื่นข้อเสนอ ส่วนงานระบบรถไฟ (APM ) แยกออกจากเดิมรถไฟไปอยู่กับงานฐานรากเช่นกัน
อีกสัญญาที่ติดคือ ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) เนื่องจากเดิม ทอท. มีที่ปรึกษาโครงการ หรือ PMC แต่เมื่อตัด PMC ออก เหลือ CSC ควบคุมงานก่อสร้างจึงต้องห้ามให้ไม่ให้มีบุคากรที่เป็นผู้ออกแบบมารวมอยู่ด้วย เพื่อไม่ให้มีการเอื้อประโยชน์กัน ซึ่งเงื่อนไขนี้ทำให้มีผู้ยื่น CSC ได้น้อยรายมาก จึงปรับปรุงให้มีบริษัทออกแบบร่วมได้ แต่ห้ามใช้บุคลากรที่ทำการออกแบบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องส่งอัยการตรวจสอบด้วย
ส่วนที่ไม่มีปัญหา เมื่อปรับปรุงราคาเสร็จจะทยอยส่งรายละเอียดโครงการพร้อมทีโออาร์ ไปยังคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค.2558 และคาดว่า คตร.จะพิจารณาประมาณ 1 เดือน และส่งกลับมา ทอท.ในเดือน ม.ค.59 จะเร่งนำเสนอบอร์ด ทอท. วันที่ 20 ม.ค.59 เพื่อขออนุมัติเปิดประกวดราคาในเดือน ก.พ.59 ทันที
นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ทอท.กล่าวว่า ครม.ปี 53 อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 กรอบวงเงินรวม 62,503.214 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเฉพาะค่าก่อสร้างประมาณ 49,000 ล้านบาท โดยล่าสุด ได้ทบทวนค่าก่อสร้างให้เป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถลดลงได้อีก 6,000 ล้านบาท โดยลงมาอยู่ที่ประมาณ 43,000 ล้านบาท ซึ่งได้แบ่งงานก่อสร้างเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย 1.งานโครงสร้างใต้ดินของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Sattellite) และลานจอดอากาศยาน กรอบราคากลางประมาณ 12,000 ล้านบาท 2.งานโครงสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 พร้อมติดตั้งอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอาคาร 3.ระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) กรอบราคากลางประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท 4.งานระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า BHS และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด กรอบราคากลางประมาณ 6,000 ล้านบาท 5.งานต่อเติมอาคารผู้โดยสารทางทิศตะวันออก อาคารจอดรถ และอาคารสำนักงาน 6.งานระบบสาธารณูปโภค กรอบราคากลางประมาณ 2,400 ล้านบาท
ส่วนสัญญาที่ 7 งานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) โดยขณะนี้ได้ส่งรายละเอียด และทีโออาร์ 3 สัญญาไป คตร.แล้ว คือ งานสัญญา CSC กรอบราคากลางประมาณ 1,000 ล้านบาท สัญญางานโครงสร้างใต้ดินของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และลานจอดอากาศยาน กรอบราคากลางประมาณ 12,000 ล้านบาท สัญญางานระบบสาธารณูปโภค กรอบราคากลางประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเปิดประมูล 3 สัญญาแรกได้ใน ก.พ.-มี.ค.59 ได้ตัวผู้รับจ้างในเดือน มิ.ย.59 ซึ่งงานก่อสร้างทั้ง 6 สัญญา จะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.62 จากนั้นจะทดสอบระบบอีก 3 เดือน เปิดให้บริการ เฟส 2 ในเดือน มิ.ย.62
“ภาพรวมราคาที่ปรับลดลงเพราะมีการตรวจสอบต้นทุนจากแหล่งและผู้ผลิตตรง เช่น เครื่อง X-Ray และ ระบบ APM ที่แยกสัญญาออกมาจากโครงสร้าง เพื่อให้ผู้ผลิตประมูลโดยตรงตัดค่านายหน้าออก และยังสะดวกในการบริหารและซ่อมบำรุงในอนาคตด้วย ส่วนราคาน้ำมันนั้นช่วยได้ระดับหนึ่ง เรื่องค่าวัสดุ แต่ที่เพิ่มขึ้นคือ ค่าแรง จากกรอบวงเงินโครงการที่ ครม.อนุมัติเมื่อปี 53 ที่ 6.2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างที่ 4.9 หมื่นล้านบาทนั้น ค่าแรงคิดที่ 225-230 บาท/วัน แต่ขณะนี้ต้องคิดฐานที่ 300 บาท/วัน แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติ การทำงานก่อสร้างพื้นที่สนามบินจะมีเขตห้ามใน air side ซึ่งห้ามใช้แรงงานต่างด้าว ดังนั้น งานพื้นฐานต้องใช้แรงงานไทยเป็นหลัก ซึ่งฐานค่าแรงจะอยู่ที่ 400-450 บาท/วัน ส่วนแรงงานฝีมือเพิ่มเป็น 600 บาท/วัน โดยสรุปค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 50-60%”