xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.หั่นสุวรรณภูมิเฟส2เหลือ5.5หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ทอท.ปรับลดกรอบวงเงิน สุวรรณภูมิเฟส 2 เหลือ 5.5 หมื่นล.จากเดิม 6.2 หมื่นล.”นิตินัย”เผยประมูล 7 สัญญา ปรับทีโออาร์แยก งานระบบสายพานลำเลียง-งานเครื่องตรวจวัตถุระเบิด –งาน อุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) ออกจากกันเพื่อเจรจาตรงผู้ผลิต เครื่องตรวจวัตถุระเบิดตัดปัญหานายหน้า ด้าน”อาคม”พร้อมรับ FAAตรวจปมการบิน ยันแก้ไขที่สุด ลุ้นผลอีก 1 เดือน อาคม"เผยแก้ 35 ข้อปัญหาการบินเสร็จแล้ว พร้อมรับการตรวจจาก FAA 26-28 ต.ค. นี้
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงิน 62,503.214 ล้านบาท ว่า ตามแผนงานจะเริ่มประกาศเงื่อนไขการประกวดราคา(ทีโออาร์) งานก่อสร้าง 6 สัญญา ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2558 และเริ่มงานการก่อสร้างในต้นปี 2559 โดยขณะนี้ ได้มีการปรับลดราคากลางรวมลงมาอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท จากกรอบเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปรับอีกเล็กน้อยซึ่งคาดว่าจะไม่ลดลงไปกว่านี้มากนัก ซึ่งเดิมเคยมองว่าจะลดกรอบวงเงินลงประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากต้องพิจารณาเรื่องราคาวัสดุก่อสร้างในปัจจุบันที่ปรับเพิ่มขึ้นประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดประมูลก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM)ก่อนเนื่องจากใช้เวลาดำเนินงานมากที่สุด 33 เดือน ส่วนงานอื่นๆ จะทยอยตามไป เนื่องจากใช้เวลาดำเนินงาน 26-27 เดือน โดยยังคงเป้าหมายการก่อสร้างตามแผนเดิม

ทั้งนี้ การประกวดราคาสุวรรณภูมิเฟส 2 จะมีทั้งหมด 7 สัญญา โดยขณะนี้ได้ทยอยส่งร่างทีโออาร์ เสนอต่อคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ใน 4 สัญญา เช่น งานออกแบบและก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 วงเงิน 27,864 ล้านบาท ,งานออกแบบและก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก ,งานออกแบบและก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบิน และที่จอดรถด้านทิศตะวันออก ,ที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มประกวดราคาได้พร้อมๆ กับงาน APM ในช่วงเดือนธ.ค. 2558 -ม.ค. 2559

ส่วน อีก 3 สัญญา คือ งานระบบสายพานลำเลียง งานเครื่องตรวจวัตถุระเบิด และงานออกแบบและก่อสร้างส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (APM) ซึ่งเดิมรวมในสัญญาเดียวกัน แต่เนื่องจากเห็นว่าควรแยกการประมูลราคาเพื่อตัดปัญหาเรื่องนายหน้าเสนอราคาต่ำเพื่อให้ได้รับคัดเลือกแต่จะมีปัญหาในเรื่องการซ่อมบำรุงสูงในระยะยาว ดังนั้น คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา จึงให้แยกสัญญา โดยจะจัดหาเครื่องตรวจวัตถุระเบิดตรงกับผู้ผลิต เพื่อพิจารณาข้อเสนอในเรื่องค่าซ่อมบำรุงดูแลรักษาในระยะยาวด้วย
ดังนั้นจึงต้องนำร่างทีโออาร์เดิมมาทบทวนใหม่ โดยแยกออกจากกัน ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานจากนั้นจะส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา คาดว่าในเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้จะส่งทีโออาร์ต่อไปยังคตร.และเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติบอร์ด ทอท. จากนั้นจึงจะเปิดประกวดราคาได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ 4 สัญญาที่ไม่ต้องมีการทบทวน อาจจะสามารถเริ่มประกวดราคาได้พร้อมๆ กับงาน APM ในช่วงเดือนธ.ค. 2558 -ม.ค. 2559

วานนี้(26 ต.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เป็นประธานเปิดการเสวนาเรื่อง “ท่าอากาศยานไทยกับนวัตกรรม” เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจให้กับพนักงานและลูกจ้าง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.โดยกล่าวว่า นวัตกรรมและการวิจัยและพัฒนา (R&D)มีความสำคัญต่อการให้บริการของท่าอากาศยาน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจจัดสรรงบประมาณสำหรับสนับสนุนเรื่องการศึกษาวิจัยและพัฒนาในสัดส่วน 3% ของกำไรสุทธิ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารทอท.ในการกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะเพื่อทำให้เกิดระบบการให้บริการที่ดีที่สุด และการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เช่นสถาบันการศึกษาหรือเอกชน เพื่อช่วยพัฒนา ระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการการลดการรอคิวของเครื่องบินที่ลานจอดและทางขับ (แท็กซี่เวย์) รวมถึงพัฒนาระบบเช็คอิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร เป็นต้น

***อาคม"เผยแก้ 35 ข้อปัญหาการบินเสร็จแล้ว พร้อม FAA 26-28 ต.ค. นี้

นายอาคม กล่าวถึงการเตรียมที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) จะเข้ามาติดตามการแก้ปัญหาด้านการบินในระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมนี้ว่า ข้อบกพร่อง 6 ข้อ ซึ่งมี 35 หัวข้อย่อย ได้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยตามแผนที่ได้มีการยื่นไว้กับ FAA แล้ว ซึ่ง FAA และคาดว่าจะใช้เวลาในการประเมินและแจ้งผลการตรวจสอบให้ทราบอีก 1 เดือน ซึ่งผลจะออกมาอย่างไรนั้นคงไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ ซึ่ง FAA เป็นRegulator ดังนั้น จะต้องดูในหน่วยที่เป็นRegulator ด้วยกันว่าดำเนินการตามมาตรฐานกติกาการบินของ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือไม่ ซึ่งในส่วนของไทยนั้นได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาตามแผนอย่างดีที่สุด

สำหรับการแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) นั้น ในส่วนของกระบวนการตรวจสอบสายการบิน (Re-certification) 28 สายการบินนั้น มี5 ขั้นตอน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยื่นเอกสาร ซึ่งมีสายการบินไทย และนกสกู๊ตยื่นเข้ามาแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น