ปูนซิเมนต์ไทยดิ้นหาพันธมิตรใหม่เสียบแทนกาตาร์ ปิโตรเลียมที่ถอนตัวจากโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม ล่าสุดเจรจา 2-3 ราย คาดว่ามีความชัดเจนก่อนกลางปี 59 เพื่อไม่ให้สัญญารับเหมาก่อสร้างหมดอายุลง ยอมรับการถอนตัวของกาตาร์ฯ ทำให้โครงการนี้ต้องล่าช้าออกไป
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาหาพันธมิตรใหม่เพื่อมาร่วมทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนามแทนกาตาร์ ปิโตรเลียมที่ถอนตัวลงทุนในโครงการดังกล่าว โดยหารือกับผู้ที่สนใจแล้ว 2-3 ราย โดยยอมรับว่าการถอนตัวลงทุนของกาตาร์ ปิโตรเลียมมีผลให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปบ้าง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ได้เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว โดยสัญญาการรับเหมาก่อสร้างจะมีอายุถึงกลางปี 2559 หากโครงการยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ก็คงต้องเปิดประมูลก่อสร้างโครงการใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะหาพันธมิตรใหม่ให้ทันก่อนกลางปีหน้า ส่วนการจัดหาแหล่งเงินกู้นั้นก็คงดำเนินการต่อไป ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้ผลตอบแทนการลงทุนโครงการนี้ดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วนการเจรจากับพันธมิตรใหม่ ได้เปิดกว้างในการเจรจาโดยพันธมิตรใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของธุรกิจน้ำมัน ขณะเดียวกัน ได้เปิดกว้างเรื่องสัดส่วนการร่วมลงทุน โดยอาจจะให้พันธมิตรใหม่ถือหุ้นมากกว่าที่กาตาร์ ปิโตรเลียมเคยถืออยู่ 25% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธมิตรใหม่ แต่บริษัทฯ ยืนยันยังคงถือหุ้นใหญ่ในโครงการดังกล่าว
โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม ใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยกลุ่มเครือซิเมนต์ไทย และ บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ถือหุ้นรวม 46% QPI Vietnam (QPIV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกาตาร์ ปิโตรเลียมฯ 25% ปิโตรเวียดนาม และวีนาเคม ถือหุ้น 29%
แหล่งข่าวจาก บมจ.ปูนซิเมนต์ไทยกล่าวถึงแผนงานของธุรกิจปิโตรเคมีปี 2559 ว่า ในปีหน้าไม่มีแผนที่จะปิดซ่อมบำรุงโรงระยองโอเลฟินส์และโรงงานปิโตรเคมีขั้นปลาย หลังจากได้เลื่อนการปิดซ่อมบำรุงจากปลายปี 2559 เป็นต้นปี 2560 แทนเป็นเวลา 40 วัน พร้อมกับขยายกำลังการผลิตเพิ่มเล็กน้อยเพราะไม่ต้องการให้ปิดตรงกับการหยุดซ่อมบำรุงโรงงานของ บมจ.ไออาร์พีซีที่กำหนดไว้ในไตรมาส 4/2559
ส่วนกรณีที่กลุ่ม บมจ.ปตท.อาจจะยกเลิกการขายแนฟทาให้กับเครือซิเมนต์ไทยในอนาคตเพราะต้องการนำแนฟทาไปต่อยอดการผลิตปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท.เองนั้น แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่าไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานธุรกิจปิโตรเคมีของเครือซิเมนต์ไทย เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ มีการนำเข้าแนฟทามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตอยู่แล้ว 40% ที่เหลือเป็นการซื้อจากในประเทศ ขณะนี้ราคาแนฟทาในตลาดโลกปรับตัวลงตามทิศทางราคาน้ำมันจึงไม่มีปัญหาในการนำเข้า