xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวเงินกู้ 425 ล้าน ผุดสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.อนุมัติเงินกู้ 425 ล้าน พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ผุดท่าเรือพระนั่งเกล้าและทางเดินเชื่อมสถานีพระนั่งเกล้า ปรับอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) เป็น 10 ชั้น และสะพานกลับรถที่บางใหญ่ หวังลดปริมาณรถยนต์ส่วนตัวเข้า กทม.ชั้นใน “อาคม” เผยนายกฯ เร่ง “คมนาคม” พัฒนาที่จอดรถสาธารณะ (Public Parking) ตามแนวรถไฟฟ้าและเร่งรัดตั๋วร่วมและรูปแบบรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน กรอบวงเงินลงทุน รวม 425 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินกู้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เชื่อมต่อสถานีสะพานพระนั่งเกล้า และท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยจะมีการก่อสร้างท่าเรือเพิ่มในฝั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีความทันสมัย มีอาคารผู้โดยสาร และทางเดินเชื่อม (Walk Way) และสะพานข้ามแยก เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้า วงเงิน 99 ล้านบาท 2. โครงการปรับปรุงอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณแยกนนทบุรี 1 จากเดิมที่ออกแบบเป็นอาคาร 4 ชั้น รองรับรถได้ 450 คัน ปรับปรุงเป็น อาคาร 10 ชั้น รองรับได้ 1,100 คัน วงเงิน 160 ล้านบาท 3. สะพานกลับรถ บริเวณหน้าโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ วงเงิน 166 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรแออัดช่วงบางใหญ่-ห้างเซ็นทรัล เวสต์เกต บางใหญ่

โดยทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2559 และในส่วนของการก่อสร้างนั้นจะให้ผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงในแต่ละช่วงเป็นผู้รับงานเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยในส่วนของสะพานกลับรถนั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมหารือสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาหน่วยงานที่จะรับผิดชอบการก่อสร้างระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่

นายอาคมกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาหาพื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถสาธารณะ (Public Parking) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า โดยเริ่มจากรถไฟฟ้าสายสีม่วงก่อน โดยพิจารณาพื้นที่ใกล้แหล่งชุมชนหรือแหล่งชอปปิ้ง เพื่อเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้า โดยจะพิจารณาพื้นที่ของหน่วยงานราชการหรือพื้นที่เอกชนที่สนใจจะลงทุน ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะรวบรวมข้อมูลตลอดแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายอื่นๆ และนำเสนอต่อไป ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเดินทางเข้าสู่ กทม.ชั้นในแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว

นอกจากนี้ นายกฯ ยังเร่งรัดการพัฒนาบัตรอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งในส่วนของคมนาคม อยู่ระหว่างพัฒนาการใช้งานของบัตรผ่านทางอัตโนมัติ (Easy Pass) ของการทางพิเศษแห่งประเทศ (กทพ.) และ M-Pass ของกรมทางหลวง ให้สามารถใช้ได้ร่วมกันภายใต้บัตรใบเดียว ซึ่งจะเริ่มทดสอบระบบในเดือนม.ค. 2559 เป็นเวลา 3 เดือนจากนั้นจะเป็นการทดสอบในการใช้บัตรใบเดียวต่อไป ส่วนระบบตั๋วร่วมหรือ Common Ticket นั้น อยู่ระหว่างจัดตั้งเคลียริ่งเฮาส์ หรือผู้บริหารจัดการรายได้กลาง และจะเริ่มใช้งานกับรถไฟฟ้า MRT กับ BTS ก่อน เพื่อพัฒนาไปสู่ บัตร E-Payment ใช้บริการสาธารณะและจับจ่ายใช้สอยได้ในบัตรใบเดียวกระทรวงการคลัง

ส่วนความคืบหน้ารถเมล์ฟรี รถไฟฟรีนั้น อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อออกแบบระบบให้ผู้รับสิทธิ์ใช้บริการฟรีเข้าถึงบริการ โดยจะมีการออกบัตรอีกใบเป็นการเฉพาะ ส่วนการจัดหารถเมล์ไฟฟ้านั้น กระทรวงคมนาคมเร่งศึกษาความเหมาะสมระหว่างรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ภายในตัวรถ (EV Bus) และรถไฟฟ้าล้อยาง (Trolley Bus) ที่ใช้การเกี่ยวสายไฟบนหลังคา โดยจะต้องพิจารณาเส้นทางถนนที่มีกายภาพเหมาะสมกับรถแต่ละประเภท ซึ่งนายกฯกำชับให้ทุกหน่วยงานร่วมกันนำเสนอโครงการที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดสภาวะโลกร้อน ซึ่งที่ประชุมโลกร้อน COP21 ตั้งเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกสูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
กำลังโหลดความคิดเห็น