xs
xsm
sm
md
lg

ผลการประชุมโลกร้อนปารีส : ยังอ่อนเกินไปที่จะแก้ปัญหาโลก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในที่สุดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนครั้งที่ 21 (COP21) ที่ใช้เวลานานถึง 12 วัน มีผู้เข้าร่วมประชุม 4.6 หมื่นคนจาก 195 ประเทศก็จบลงแล้ว โดยมีการ “ต่อเวลานอก” ไปอีกกว่า 1 วัน เพราะตกลงกันไม่ได้ จนที่สุดก็มีการแถลงปิดการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม ท่ามกลางเสียงปรบมือด้วยความดีใจของผู้มีบทบาทในการจัดประชุม แต่ผู้ประท้วงอยู่ภายนอกห้องประชุมบอกว่า “ข้อตกลงที่จะลดอุณหภูมิโลกลงมาที่ระดับ 2 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนการเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรมนั้นยังอ่อนหรือเบาเกินไปที่จะแก้ปัญหาโลกที่หนักหนาสาหัสได้”

เท่าที่ผมได้ติดตามข่าวทราบว่ามีกว่า 100 ประเทศที่ต้องการลดลงมาที่ระดับ 1.5 องศา โดยพวกเขาให้เหตุผล แม้ในวันนี้ที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกือบๆ 1 องศาเซลเซียสประเทศด้อยพัฒนาก็ต้องประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนักอยู่แล้ว ถ้าขืนให้เพิ่มถึง 2 องศา หลายประเทศก็คงจมหายไปในทะเลแล้ว

ก่อนยุคอุตสาหกรรม (ค.ศ.1880) โดยเฉลี่ยคลื่นความร้อนจะเกิดขึ้นประมาณ 1 ครั้งในรอบ 3 ปี แต่ในยุคปัจจุบัน (ที่อุณหภูมิสูงถึง 0.85 องศาเซลเซียส) คลื่นความร้อนเกิดขึ้น 4-5 ครั้งต่อปี หากชาวโลกไม่ช่วยกันแก้ปัญหาจนปล่อยให้ถึง 2 องศา โอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนปีละ 27 ครั้ง และถ้าขืนปล่อยให้ถึง 3 องศาก็จะถึง 67 ครั้งต่อปี (ข้อมูลจาก The Guardian) ผมได้นำผลการพยากรณ์ถึงผลกระทบบางประการในกรณี 2 องศามาให้ดูด้วยครับแค่นี้ก็น่ากลัวมากอยู่แล้ว

จากแผนการลดตามความตั้งใจของแต่ละประเทศที่ได้เสนอไว้ (INDC) ก่อนการประชุมพบว่า เมื่อนำมารวมกันแล้วจะสามารถทำให้อุณหภูมิของโลกสูงอยู่ที่ระดับ 3.5 องศาเซลเซียส ยังไม่พอที่จะอยู่ในระดับที่เรียกว่า “ปลอดภัย” ได้แต่ถ้าไม่ใช่กันลดการปล่อยก๊าซเลย อุณหภูมิจะสูงถึง 4.5 องศา

ถ้าจะให้เหลือ 2 องศาเซลเซียสจริงจะต้องช่วยกันลดการปล่อยลงมาอีก กล่าวคือ ในปี 2050 จะต้องลดลงมาที่ระดับ 60% ของที่เคยปล่อยในปี 2005 เท่านั้นยังไม่พออีกครับ ต้องลดลงมาอีกคือให้เหลือปีละ 7,000 ล้านตัน ภายในปี 2100 (ดังกราฟซึ่งผมได้เคยเสนอไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ Tony Seba แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ผู้พยากรณ์ว่าอีกไม่เกิน 15 ปีระบบการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยโซลาร์เซลล์ และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้โซลาร์เซลล์ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตในช่วงการประชุมโลกร้อนว่า

“2 องศาไม่ใช่เป้าหมาย การปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์ (Zero Emission) คือเป้าหมาย เราไม่สามารถควบคุม 2 องศาได้ แต่เราสามารถควบคุมคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Zero Carbon) ได้”

เอ่อ ผมว่าจริงของคุณ Tony นะครับ เราสามารถควบคุมและตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ แต่สำหรับ 2 องศาเป็นผลที่ตามมาอีกทอดหนึ่งซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของทั้งโลกที่เราไม่สามารถตรวจสอบเป็นรายประเทศได้

นอกจากนี้คุณ Tony ยังได้กล่าวไว้ล่วงหน้าว่า ผลการประชุมเรื่องโลกร้อนขององค์การสหประชาชาติอาจจะไม่สำคัญนัก เพราะว่า “ต้นทุนที่ลดลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี (โซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า หลอดแอลอีดี และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต) จะกวาดเอาความเฉื่อยชาทางการเมืองและผู้ต่อต้านอันเนื่องจากผลประโยชน์ทิ้งไปเองดังนั้น ภายในปี 2030 ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจะกลายเป็นสิ่งล้าสมัย”

เขากล่าวต่อไปว่า “เป็นเวลานานกว่า 100 ปีมาแล้ว การผลิตพลังงานเป็นแบบรวมศูนย์และการตัดสินใจทุกอย่างขึ้นอยู่กับธนาคารขนาดใหญ่และองค์กรที่กำกับดูแล ผู้บริโภคไม่เคยมีส่วนร่วมเลย สิ่งนี้กำลังมีการเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของโซลาร์เซลล์เกิดจากพลังขับเคลื่อนของผู้บริโภค และกำลังจะเกิดขึ้นกับกรณีรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่”

“เมื่อบางสิ่งบางอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของผู้บริโภคและถูกกระจายออกไป นี่คือความแตกต่าง อุตสาหกรรมแบบเดิมๆ ไม่มีความเข้าใจหรือต้องการจะไม่เข้าใจในสิ่งดังกล่าว”
คุณ Tony กล่าว

อีกตอนหนึ่ง เขาได้กล่าวถึงการลงทุนของนักลงทุนจากพลังงานฟอสซิลว่า “การออกมาจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจบนจริยธรรม แต่เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เงินที่คุณลงทุนไปในโรงไฟฟ้าใหม่ คุณจะสูญเสีย เพราะว่ามันจะอยู่ไปไม่ถึง 40 ปีตามอายุของโรงไฟฟ้า” พวกที่คิดจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สงขลา โปรดอ่านอีกรอบครับ

กลับมาที่ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกนิดครับ

ในฐานะอาจารย์คณิตศาสตร์ ผมเคยอยากทราบมานานแล้วว่า ธรรมชาติสามารถนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์เป็นจำนวนเท่าใด มาวันนี้ผมได้ข้อมูลแล้วครับ แม้ข้อมูลบางอย่างจะคลาดเคลื่อนจากข้อมูลของแหล่งอื่นอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผมสามารถคำนวณได้ ผมขอนำเสนอข้อมูลและแนวคิดในการคำนวณ ดังแผ่นสไลด์ข้างล่างครับ

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ก่อขึ้น ร้อยละ 91 มาจากภาคพลังงานและอุตสาหกรรมซีเมนต์ (33,400 ล้านตัน ต่างจากแหล่งข้อมูลที่ผมได้อ้างแล้ว) อีก 9% (3,300 ล้านตัน) เกิดจากภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ในขณะที่ต้นไม้ทั้งโลกใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงปีละ 9,500 ล้านตัน และมหาสมุทร ซึ่งผมเข้าใจว่าใช้กับการสังเคราะห์แสงของสาหร่าย แต่ไม่แน่ใจว่าใช้หมดหรือไม่ ปีละ 8,800 ล้านตัน

รวมการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเพียงปีละ 18,300 ล้านตัน ดังนั้นจึงมีเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศถึงปีละ 18,400 ล้านตัน

ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการให้ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น มนุษย์ต้องปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละไม่เกิน 18,300 ล้านตันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงก็คือ ในปี 2015 มนุษย์ได้ปล่อยไปจำนวนประมาณ 55,000 ล้านตัน หรือประมาณ 3 เท่าของค่าที่ทำให้เกิดสภาพสมดุล นักคณิตศาสตร์สามารถคำนวณหรือหาผลเฉลยของสมการในแผ่นสไลด์ได้ไม่ยาก

ความคิดของคุณ Tony น่าสนใจมากครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้นำปกหนังสือของเขามาเป็นชื่อบทความ ส่งผลให้มีคนอ่านบทความของผมมากเป็นประวัติการณ์ คือ 73,500 คน (ปกติประมาณ 4-5 พันคนเท่านั้น) และมีคนแชร์ 13,000 ราย มาวันนี้ผมรู้สึกเกร็งๆ ครับ

อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่แน่ใจว่าที่คนอ่านมากขนาดนั้นเป็นเพราะความน่าสนใจของบทความเอง หรือเป็นเพราะเป็นวันหยุดยาวกันแน่?

หมายเหตุ :


ก่อนส่งบทความนี้ ผมได้รับบทความเรื่อง “World Leaders Agree to Historic Global Climate Agreement (ผู้นำโลกต่างเห็นด้วยกับข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน)” ซึ่งเขียนโดยคุณ Stefanie Spearใน EcoWatch 12 ธันวาคม 2015 ความตอนหนึ่งว่า

คุณ Bill McKibben ผู้ร่วมก่อตั้ง 350.org ว่า “ในตอนนี้ดูเหมือนว่าทุกรัฐบาลต่างก็ยอมรับแล้วว่า ยุคของพลังงานฟอสซิลจะต้องสิ้นสุดลงและในไม่ช้านี้” แต่เขาเตือนว่า “พลังอำนาจของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงสะท้อนอยู่ในคำแถลงซึ่งจะยืดช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อนี้โดยสร้างความหายนะทางภูมิอากาศต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด

เขาเชื่อว่า “จังหวะก้าวเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้” และ “นักเคลื่อนไหวจะต้องเพิ่มความพยายามเป็นทวีคูณในการที่ทำให้พลังของอุตสาหกรรมนี้อ่อนกำลังลง

และในตอนสุดท้ายเขาได้กล่าวอย่างมีความลึกซึ้งว่า “ข้อตกลงดังกล่าวไม่สามารถทำให้โลกปลอดภัยได้ แต่อาจจะช่วยทำให้มีโอกาสที่ช่วยโลกมีมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น