xs
xsm
sm
md
lg

แนะ กฟผ.สร้างความเชื่อมั่นสุขภาพที่แม่เมาะ ก่อนเริ่มที่ตะวันออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการสิ่งแวดล้อม เสนอแนะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างความเชื่อมั่นด้านสุขภาพที่แม่เมาะ ก่อนดำเนินการในภาคใต้ และภาคตะวันออก

เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายตามแผนการผลิตไฟฟ้า 2015 โดยจะทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของภาครัฐเพิ่มจากเดิมอีกจำนวน 9 แห่ง โดยในปี 2558-2568 และก่อสร้างอีก 6 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 4,365 เมกะวัตต์ และปี 2569-2579 อีก 3 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 3,000เมกะวัตต์ โดยเน้นให้เกิดขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก

ที่ผ่านมา มีกลุ่มประชาชนบางส่วนได้ออกมาต่อต้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก หรือชะลอการใช้พลังงานจากฟอสซิล และหันกลับมาส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน และเป็นสาเหตุในการปล่อยมลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยค่อนข้างสูง

นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เผยว่า จากการติดตามตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษเพื่อสร้างความเชื่อให้แก่ประชาชนก่อนที่จะเริ่มโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ และภาคตะวันออก คือ

1.ประเทศไทยได้ให้สัญญาต่อการประชุมโลกร้อน หรือ COP ว่า จะลดกาซเรือนกระจกภายในปี 2573 หรืออีก 15 ปี ลงร้อยละ 20-25 โดยจะดำเนินการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลง และเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น แต่ตามแผนการผลิตไฟฟ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 แห่ง ในช่วงปี 2558-2579 และจะเริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ในช่วงปี 2569-2579 โดยก่อนหน้านั้นไม่มีการผลิตพลังงานหมุนเวียนเลย ซึ่งนโยบายต่อสัญญาที่ประกาศไว้ค่อนข้างขัดแย้งกันเอง

2.ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษสูงที่สุด และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก โดยปล่อยคาร์บอนมากกว่าน้ำมัน 29% และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (ตัวขับเคลื่อนภาวะโลกร้อนตัวหลัก) ต่อหน่วยพลังงานมากกว่าก๊าซ 80% US.EPAระบุการเผาถ่านหินถ่านหินบิทูมินัสซึ่งได้ชื่อว่าเป็นถ่านหินที่สะอาดที่สุดในบรรดาถ่านหินทั้งหมด จะก่อให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ถึง 785 ตันต่อปี และก่อให้เกิดฝุ่นละอองมากถึง 72,000 กิโลกรัมต่อปี ที่สำคัญคือ ฝุ่นที่ออกมาจากถ่านหินนั้นมีสารเคมีอย่างอื่นปนเปื้อนออกมาด้วย เช่น สารปรอท สารหนู และไอโลหะหนักอื่นๆ

3.งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด มีรายงานว่า ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 0.625-2.5 ไมครอนมาจากการเผาถ่านหิน จะสามารถทะลุเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงผ่านการหายใจ และมีสารปรอท และโลหะหนักเกาะไปกับฝุ่นเหล่านี้ด้วย โดยฝุ่นขนาดเล็กนี้สามารถทะลุถุงลมปอดเข้าไปในกระแสเลือด และไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด และโรคทางเลือด เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย

นอกจากนี้ ฝุ่นขนาดเล็กมาก และโลหะหนักที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าอาจจะไปปนเปื้อนในน้ำ และดิน ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และต้นไม้ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรอีกด้านหนึ่งด้วย

4.ข้อมูลจากUS.EPA 2007 โดยการเก็บตัวอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 84 แห่ง จาก 187 แห่ง พบว่า มลพิษที่ปล่อยสู่อากาศมากที่สุด คือ กลุ่มของกรดไฮโดรคลอริก (Hydrocloric Acid) ปรอท (Mercury) และอาร์เซนิก (Arsenic) ฝุ่นละอองขนาดต่ำกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งทั้งหมดส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยอย่างมาก

5.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กำลังผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงาน แต่ถูกประชาชนต่อต้านอย่างมาก เนื่องจากกระแสลดภาวะโลกร้อน และผลงานในอดีตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่แพ้คดีในศาลปกครอง จากการละเลยการปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเคยเกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนบริเวณใกล้เคียงจนต้องชดเชยเป็นเงิน 25 ล้านบาท จึงทำให้ขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนบางส่วน รวมทั้งไม่มีความมั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ถึงแม้จะอ้างว่าใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดก็ตาม

6.ภาคประชาชนต้องการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินการจัดการที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนก่อนที่จะดำเนินการในที่อื่น

เช่น การทำการตรวจวัดมลพิษที่ออกมาจากปล่องโรงไฟฟ้า โดยเพิ่มการตรวจวัดสารปรอท และสารหนูตลอดเวลา และส่งสัญญาณให้เห็นทางจอแสดงผลตามหลักวิธีของ US.EPA โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานของยุโรป หรืออเมริกา เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้กำหนดมาตรฐานดังกล่าวไว้สำหรับโรงไฟฟ้า รวมทั้งให้เพิ่มเติมการตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน สารปรอท และสารหนูในบรรยากาศบริเวณชุมชนใกล้เคียงด้วย และนำผลการตรวจวัดดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่ามีผลกระทบสุขภาพของชุมชนในรูปของดัชนีชี้วัดสุขภาพ หรือ Health Index หรือไม่

โดยเฉพาะทำการตรวจสุขภาพชุมชน และทำการวิเคราะห์ในเชิงระบาด โดยนักวิชาการด้านสาธารณสุขเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยใกล้เคียง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

กำลังโหลดความคิดเห็น