เอเอฟพี - สหรัฐฯยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันที่มีมากว่า 40 ปีในวันศุกร์(18ธ.ค.) นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันที่กำลังเฟื่องฟูของอเมริกา
มาตรการนี้รวมอยู่ในร่างงบประมาณ 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสอย่างง่ายดายและตอนนี้เหลือเพียงแค่ขั้นตอนลงนามโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา
แม้สมาชิกเดโมแครตหลายคนต่อต้าน แต่มีบางส่วนยอมจับมือกับส.ส.รีพับลิกันและเหล่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่ล็อบบี้อย่างหนัก เรียกร้องยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออก โต้แย้งว่ามันจะช่วยสร้างงานและส่งเสริมความมั่นคงแก่พันธมิตรยุโรปของวอชิงตัน
"ข้อเท็จจริงชัดเจน การยกเลิกคำสั่งห้ามเป็นเรื่องดีของผู้บริโภค เหล่าบริษัทของเรา ความมั่นคงของชาติและความมั่นคงทางพลังงาน" เฮดี ไฮต์แคมป์ วุฒิสมาชิกจากนอร์ทดาโคตากล่าว
"การเปิดน้ำมันดิบสหรัฐฯแก่ชาติอื่นๆบนโลกนี้ เราไม่ได้แค่มอบคู่หูการค้าทางพลังงานที่มีความแน่วแน่กว่าเดิมแก่พันธมิตรของเรา แต่เรายังช่วยลดอำนาจของประเทศอื่นๆอย่างรัสเซียและเวเนซุเอลา เช่นเดียวภูมิภาคตะวันออกกลางที่ใช้อำนาจทางพลังงานของพวกเขาสำแดงอิทธิพลเหนือประเทศของเราและพันธมิตรของเรา" เธอระบุ
อย่างไรก็ตามเหล่านักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแสดงความกังวลว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้จะเป็นตัวสนับสนุนให้ยังคงพึ่งพาน้ำมันเหนือพลังงานสะอาด แม้สหรัฐฯเพิ่งให้คำมั่นระหว่างร่วมประชุมโลกร้อนว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
คำสั่งห้ามนี้ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในปี 1975 ช่วงเวลาที่สหรัฐฯกำลังมึนงงกับมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันของประเทศอาหรับระหว่างปี 1973-1974 ซึ่งก่อคลื่นความช็อคอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและดันราคาน้ำมันโลกพุ่งทะยาน
สมาชิกอาหรับของโอเปกห้ามส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ เพื่อแก้แค้นวอชิงตันที่สนับสนุนอิสราเอลระหว่างสงครามอาหรับ-อิสราเอล และเพื่อแสวงหาความเป็นเอกราชทางพลังงาน สหรัฐฯจึงจัดตั้งคลังน้ำมันดิบสำรองฉุกเฉินหรือที่เรียกว่า "คลังปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์" ในปี 1975 และห้ามการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมด
อย่างไรก็ตามคำสั่งห้ามนั้นมีข้อยกเว้นบางอย่าง โดยอนุญาตให้ส่งออกน้ำมันดิบจากอะแลสกาและแคลิฟอร์เนียไปยังแคนาดาราว 491,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อการใช้ภายใน เช่นเดียวกับน้ำมันดิบนำเข้าที่ต้องส่งออกกลับไป
ด้วยความเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรการดังกล่าว ทำให้น้ำมันดิบที่ผลิตในสหรัฐฯ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวันและในคลังสำรองเชิงพาณิชย์ 490.7 ล้านบาร์เรล สามารถส่งออกได้ทั้งหมด
กระนั้นประธานาธิบดียังคงสามารถจำกัดการส่งออกในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ ในเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ หรือการส่งออกก่อการขาดแคลนน้ำมันภายในประเทศ เช่นเดียวกับที่มันผลักให้ราคาน้ำมันสหรัฐฯสูงกว่าระดับตลาดโลกมากเกินไป อย่างไรก็ตามเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้น้อยลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผานมา เนื่องจากกำลังผลิตน้ำมันที่เฟื่องฟูในอเมริกา
กระทรวงพลังงานสหรัฐฯระบุว่าอเมริกาจะกลายเป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบสุทธิราวๆทศวรรษหน้า
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมัน ไม่น่าจะส่งผลกระทบนักต่อตลาดน้ำมันโลกที่เผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาดอยู่ก่อนแล้ว โดย เจมส์ วิลเลียมส์ จาก ดับเบิลยูอาร์จี อีโคโนมิคส์ ให้ความเห็นว่า "สหรัฐฯไม่มีน้ำมันส่วนเกินมากมายนักที่จะขาย นี่อาจช่วยให้ผู้ผลิตสามารถส่งออกไปยังยุโรปในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นต่างๆปรับตัวเข้ากับน้ำมันดิบเบาได้ดีกว่า"
อย่างไรก็ตามแอนดี ลิโพว์ จากลิโพว์ ออย แอสโซซิเอทส์ โต้แย้งว่าด้วยน้ำมันดิบสหรัฐฯมีราคาใกล้เคียงกับเบรนต์ "มันจึงไม่สนับสนุนการส่งออกจากสหรัฐฯไปยังส่วนอื่นๆของโลก ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ"