กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลุยตรวจสอบนอมินีตามแผนปฏิบัติการปี 59 ที่มุ่งเน้น 10 กลุ่มธุรกิจที่มีคนต่างชาติเข้ามาถือหุ้น ประเดิมภูเก็ต ไม่พบนอมินีท่องเที่ยว แต่เจอ 2 ธุรกิจให้เช่ายานพาหนะและขายปลีกเป็นนอมินี สั่งกรรมการบริษัทจัดส่งเอกสารเพื่อตรวจสอบเชิงลึก หากพบผิดจริงส่งดีเอสไอจัดการต่อ ส่วนปี 58 จับนอมินีได้ทั้งหมด 13 ราย เล็งส่งเจ้าหน้าที่ประกบธุรกิจให้ความรู้ก่อนเข้าไปมีเอี่ยววงจรนอมินี
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ ได้ผนึกกำลังกับหน่วยงานพันธมิตร 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว (นอมินี) ซึ่งเป็นไปตามแผนการทำงานในปีงบประมาณ 2559 ที่จะมุ่งเน้นการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย 10 กลุ่ม ได้แก่ การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม, ท่องเที่ยว, ซื้อ ขาย ให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ (นายหน้า), ค้าอสังหาริมทรัพย์, ให้เช่ารถยนต์, สปา, ขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึก, ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต, ขายตรง และบริการที่สนับสนุนการศึกษา
“การตั้งเป้าหมายในการตรวจสอบธุรกิจข้างต้น เพราะธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่มีคนต่างชาติเข้ามาถือหุ้น จึงต้องตรวจสอบเป็นพิเศษว่ามีการแอบเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทยหรือไม่ ซึ่งหากตรวจสอบพบก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาดเพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งอาชีพคนไทย และยังช่วยป้องกันปัญหาการหลอกลวง เพราะที่ผ่านมาหลายๆ ธุรกิจมีการร้องเรียนเข้ามามาก” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบที่จังหวัดภูเก็ตเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 15-20 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ประกอบกับเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โดยผลตรวจสอบธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต 51 ราย พบว่าภาพรวมเป็นไปอย่างเรียบร้อย ผู้ประกอบธุรกิจให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี และมีความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และไม่พบธุรกิจท่องเที่ยวรายใดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินี
อย่างไรก็ตาม ได้ตรวจสอบพบธุรกิจอื่นที่เข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวน 2 ราย คือ ธุรกิจให้เช่ายานพาหนะ และธุรกิจขายปลีก โดยกรมฯ ได้แจ้งให้กรรมการบริษัทของทั้ง 2 แห่ง จัดส่งเอกสารเพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบเชิงลึกแล้ว หากพิจารณาแล้วพบว่าเป็นการจงใจกระทำผิด ขั้นตอนต่อไปกรมฯ จะส่งเรื่องให้ดีเอสไอดำเนินการพิจารณาตามกฎหมายต่อไป ซึ่งโทษของการกระทำผิดในลักษณะนี้ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1-5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับผลการตรวจสอบนอมินีร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในจังหวัดที่มีความสำคัญด้านการท่องเที่ยวในปี 2558 ที่ผ่านมา พบผู้กระทำผิดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นนอมินีจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดส่งข้อมูลให้ดีเอสไอดำเนินการ โดยกรมฯ ขอเตือนคนไทยและผู้ประกอบธุรกิจอย่าให้ความช่วยเหลือหรือถือหุ้นแทนคนต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายไทยอย่างเด็ดขาด
นอกจากนี้ กรมฯ ยังจะสร้างความตื่นตัวให้กับผู้ประกอบการ โดยจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปสร้างความรู้และให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกฎหมายที่ต้องรู้ และปฏิบัติตามเพื่อป้องปรามไม่ให้มีการใช้ตัวแทนอำพรางในการทำธุรกิจอีกต่อไปด้วย
สำหรับการตรวจสอบนอมินี เป็นการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 4 หน่วยงาน ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจท่องเที่ยวโดยใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2557 มีกรอบความร่วมมือใน 4 ด้าน คือ ด้านการจดทะเบียนและอนุญาต ด้านการประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล ด้านกำกับดูแลและป้องปราม และด้านการส่งเสริม ธุรกิจท่องเที่ยว