xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ วางเกณฑ์คุมเข้มนอมินี ตรวจก่อนและหลังจดตั้งบริษัท เผยปีนี้ประเดิมลงพื้นที่ภูเก็ต-สมุย เจอแล้ว 2 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวางเกณฑ์เข้ม ป้องกันต่างชาติใช้คนไทยเป็นนอมินีแอบทำธุรกิจ ยันตรวจตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนจัดตั้ง ต้องโชว์เงินลงทุนส่วนของคนไทย และหลังจัดตั้งหากเป็นธุรกิจเสี่ยงจะตรวจถี่ยิบ เผยปีนี้นำร่องตรวจที่ภูเก็ตและเกาะสมุยไปแล้ว เจอเข้าข่ายนอมินี 2 ราย พร้อมลุยตรวจเชียงใหม่ เชียงรายปลายเดือนนี้ เตือนคนไทยที่ร่วมมือ หากตรวจพบส่งดำเนินคดีทุกราย

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้วางกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดในการป้องกันการดำเนินธุรกิจในลักษณะปิดบังอำพรางให้คนไทยออกหน้าหรือถือหุ้นแทน (นอมินี) เพื่อป้องกันไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจที่เป็นธุรกิจสงวนไว้สำหรับคนไทย โดยได้มีมาตรการป้องกันตั้งแต่ก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ หากพบว่าธุรกิจใดมีคนต่างด้าวถือหุ้น แม้ไม่เกิน 50% ก็ต้องแสดงเอกสารหลักฐานที่ธนาคารออกให้ว่ามีการร่วมลงทุนจากคนไทยจริง และหลังจดทะเบียนจัดตั้งได้แล้วก็จะมีการจัดทำข้อมูลรายชื่อนิติบุคคลที่ต้องสงสัยหรือเชื่อว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้กับคนต่างด้าวเพื่อกำหนดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดตามการประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ ได้กำหนดธุรกิจในกลุ่มเสี่ยงไว้ 10 ธุรกิจ ได้แก่ จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม, ท่องเที่ยว, ซื้อ ขาย ให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ (นายหน้า), ค้าอสังหาริมทรัพย์, ให้เช่ารถยนต์, สปา, ขายปลีกผลิตภัณฑ์งานฝีมือและของที่ระลึก, ขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต, ขายตรง และบริการที่สนับสนุนการศึกษา

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ในปี 2559 กรมฯ จะร่วมกับกรมการท่องเที่ยวและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการตรวจสอบนอมินีอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเพิ่มเติมใน 4 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ เพชรบุรี (ชะอำ) ตราด และเชียงราย และล่าสุดกรมฯ พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกันไปแล้ว 2 จังหวัดได้แก่ ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย) เบื้องต้นพบว่าธุรกิจมีพฤติกรรมน่าจะเข้าข่ายเป็นนอมินี 2 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเชิงลึก และมีกำหนดลงพื้นที่ตรวจสอบในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายในช่วงปลายเดือน ม.ค. 2559 นี้

“ปัญหานอมินีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากคนไทยที่รู้เห็นเป็นใจคอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนคนต่างชาติ จึงขอเตือนคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนหรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว ทั้งที่จงใจหรืออาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยหวังแค่ประโยชน์ตอบแทนส่วนตน แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ขอให้หยุดการกระทำ เพราะหากตรวจพบ หรือจับได้ จะมีความผิดตามที่กฎหมายกำหนด และขอยืนยันว่าจะส่งดำเนินการจนถึงที่สุดทุกราย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว

สำหรับคนต่างด้าวที่ให้คนไทยถือหุ้นแทนและกรรมการบริษัทที่ตรวจสอบพบความผิด จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1-5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน

ส่วนผลการตรวจสอบนอมินีในปี 2558 กรมฯ กับหน่วยงานพันธมิตรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งกรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และภูเก็ต ซึ่งพบเข้าข่ายเป็นนอมินี 13 ราย โดยได้ส่งเรื่องให้ดีเอสไอสืบสวนต่อไปแล้ว และยังได้ส่งให้กรมสรรพากรดำเนินการขยายผลในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น