“พาณิชย์” เดินหน้าพัฒนาสินค้าโอทอปตามแผนโอทอป 2.0 เตรียมคัดผู้ประกอบการ 450 ราย ช่วยสร้างแบรนด์ ใส่สตอรี่ ตั้งเป้าปีแรกปั้นได้ 60 ราย พร้อมประสาน ททท.จัดพื้นที่นำไปขายในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ ถก ปตท.วางขายในปั๊ม 148 แห่ง และส่งขายในดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ และสนามบินอื่นๆ ปิ๊งคัดรายเจ๋งจริงขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ทีวีไดเร็กต์ และแค็ตตาล็อก
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (กอ.นตผ.) ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์โอทอปปี 2559 (โอทอป โรดแมป 2.0) โดยให้มีการปรับระบบการบริหารจัดการสินค้าโอทอปใหม่ทั้งระบบ ทั้งการบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงาน การยกระดับตัวสินค้า การสร้างเครือข่าย การใส่นวัตกรรมเข้าไปในตัวสินค้า และการเพิ่มช่อทางการจำหน่ายให้แก่สินค้าโอทอป เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนฐานรากของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะทำหน้าที่ด้านส่งเสริมการตลาด โดยได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ทั้งการพัฒนาผู้ประกอบการ พัฒนาตัวสินค้า และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่สินค้าโอทอปผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศ
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า แผนการยกระดับสินค้าโอทอป กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ไปสำรวจว่าในแต่ละจังหวัดมีผู้ผลิตสินค้าโอทอปเหลืออยู่เท่าไร จากเดิมที่มีผู้ผลิตในกลุ่มโอทอปซีเล็กซ์ อยู่ 2,749 ราย ซึ่งหลังจากสำรวจพบว่าปัจจุบันมีดำเนินกิจการอยู่ 2,661 ราย และให้จัดลำดับกลุ่มที่มีศักยภาพ 1-10 ว่ามีสินค้าอะไรบ้าง ได้ออกมารวม 798 ราย และในจำนวนนี้ได้ทำการคัดแยกเพื่อนำไปพัฒนา จำนวน 450 ราย
โดยหลังจากที่ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการโอทอปได้แล้ว กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเข้าไปช่วยเหลือโดยเข้าไปพัฒนาทั้งตัวผู้ประกอบการ ตัวสินค้าที่ต้องพัฒนารูปแบบ การสร้างแบรนด์ การใส่สตอรี่ในตัวสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม การร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ร่วมกันพัฒนาสินค้าโอทอป และการเชื่อมโยงเครือข่ายของกลุ่มผู้ผลิตเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย
สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาสินค้าโอทอป เบื้องต้น จะเน้นการสร้างแบรนด์ และพัฒนาสตอรี่โอทอปให้ได้จำนวน 60 ราย ในปี 2559 จากที่พัฒนา 450 ราย ซึ่งเมื่อพัฒนาได้แล้วก็จะเชื่อมโยงสู่แหล่งจำหน่าย โดยขณะนี้ได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเตรียมสถานที่จำหน่ายสินค้าโอทอปในแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ และยังทำการเชื่อมโยงกับ 12 เมืองต้องห้ามพลาด โดยนำเสนอสินค้าโอทอปที่ผลิตจากเมืองเหล่านี้
นอกจากนี้ จะร่วมมือกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการจำหน่ายสินค้าในปั๊ม ปตท. จำนวน 148 แห่ง การจำหน่ายในร้านดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันมียอดจำหน่ายเฉลี่ยเดือนละ 4 ล้านบาท และจะขยายไปยังสนามบินอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งยังมีแผนผลักดันขายในโรงแรม รีสอร์ต ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกด้วย
ขณะเดียวกัน จะเร่งพัฒนาร้านต้นแบบ 5 ภาค ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ โดยจะเป็นแหล่งรวมที่จำหน่ายสินค้าโอทอป และยังมีแผนที่จะพัฒนาร้านโอทอปเฉพาะอย่าง 2 กลุ่มสินค้า คือ อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพความงาม หรือสินค้าไลฟ์สไตล์ โดยหากร้านค้าโอทอปใดมีขีดความสามารถก็จะผลักดันต่อยอดไปสู่แฟรนไชส์ต่อไป
ส่วนการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านอี คอมเมิร์ซ ได้ตั้งเป้าที่จะนำผู้ประกอบการสินค้าโอทอปไปจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ www.thaicommercestore.com จำนวน 300 ราย ซึ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ แต่หากมีความเข้มแข็งก็จะผลักดันให้ไปจำหน่ายในเว็บไซต์www.thaitrade.com เพื่อจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศ และยังจะผลักดันให้จำหน่ายผ่านทีวีไดเร็กต์ ให้ได้ 3-5 ราย และจำหน่ายผ่านแค็ตตาล็อก 50 ราย เป็นต้น