ศูนย์ข่าวขอนแก่น - แบงก์ชาติเผยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคอีสานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ โดยเฉพาะโคราช-ขอนแก่นมีการลงทุนต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการบ้านแนวราบ ราคาไม่เกิน 3.5 ล้านบาท แม้ต้องใช้เวลาขายนานมากขึ้น ขณะที่หนองคาย-มุกดาหารน่าจับตา ทุนอสังหาฯ เริ่มรุกรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
วันนี้ (4 ส.ค.) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายชาญชัย บูรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยช่วงนี้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ติดลบน้อยลง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 เนื่องจากภาคการก่อสร้างได้ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเพื่อการพาณิชย์ สอดคล้องกับยอดขายวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น สำหรับเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนชะลอลง แม้การลงทุนในอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังขยายตัวดี
ขณะที่นักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นยังมีการลงทุนต่อเนื่อง และยังมีการกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดใหญ่ โดยเฉพาะใน จ.นครราชสีมา ขณะที่ จ.ขอนแก่นยังพอมีประปราย จากโครงการบ้านในแนวราบยังดีขึ้นอยู่เรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก เช่น หลังละ 2.5-3.5 ล้านบาท แต่การขายจะใช้เวลามากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ทำให้สะท้อนถึงการชะลอตัวของกำลังซื้อในตลาด
อย่างไรก็ตาม เป็นที่จับตาโครงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์บริเวณจังหวัดชายแดนอย่าง จ.หนองคาย และ จ.มุกดาหาร มีความเคลี่อนไหวทางการลงทุนเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกน่าจะมาจากความชัดเจนในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น จ.หนองคาย มีการลงทุนการทำดิวตี้ฟรีแล้ว และยังมีแนวโน้มจะลงทุนลักษณะนี้ที่ จ.มุกดาหาร
ส่วนสถานการณ์การก่อสร้างในช่วงไตรมาสแรกถึงไตรมาส 2 เริ่มชะลอตัวลงเพราะเกิดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม อีกทั้งนักลงทุนอยู่ในช่วงรอดูสถานการณ์ รอดูเรื่องโครงการของภาครัฐ ดูทิศทางนโยบายภาครัฐที่จะมากระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะไปในทิศทางใด แต่ก็ไม่ได้เป็นทั้งหมดแต่เป็นการขยายการก่อสร้างเป็นจุดๆ มากกว่า เช่น ในจังหวัดใหญ่ๆ จะมีบ้านแนวราบก็ยังมีทยอยลงมาอยู่ แต่เป็นโปรเจกต์เล็กๆ ซึ่งจะเห็นเป็นจุดๆ อย่าง จ.ขอนแก่นก็ยังมีการทำอยู่ ที่ จ.อุดรธานีก็ยังพบเห็นอยู่บ้าง
อีกส่วนที่สำคัญที่จะเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจภาคอีสาน คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นแรงส่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจภาคอีสาน ต่อเนื่องจากเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม โดยมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 66,000 บาท ตามการใช้จ่ายในโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ ที่เริ่มทยอยจ่ายในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ยังเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่ม ทั้งในแถบจังหวัดชายแดน และจังหวัดใหญ่ในภาคอีสาน