อาเซียนเตรียมประกาศสรุปผลการเจรจาเปิดเสรี RCEP ในการประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้ หวังใช้แข่งกับการเปิดเสรี TPP คาดมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีหน้า โชว์เจ๋งกว่า TPP ตรงมีจีนและอินเดียอยู่ด้วย เผยยังจะมีการประกาศวิสัยทัศน์อาเซียน 10 ปีข้างหน้า เน้นสร้างความเข้มแข็งรับมือความท้าทายใหม่ของโลก
น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียน (อาเซียนซัมมิต) ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 19-22 พ.ย. 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ผู้นำอาเซียนมีกำหนดจะพบปะหารือกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย เพื่อหารือถึงการเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะมีการเร่งรัดการลดภาษีภายใต้ข้อตกลงการเปิดตลาดให้เร็วขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ได้ประกาศสรุปข้อตกลงไปแล้วเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับข้อตกลง RCEP เพื่อให้ข้อตกลงนี้มีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปีหน้า โดยในการประชุมครั้งนี้คาดว่าจีนจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยผลักดันให้ข้อตกลงบรรลุผลสรุปที่เร็วขึ้น เพื่อแข่งกับการเปิดเสรี TPP
สำหรับข้อสรุปที่ได้มีการตกลงกันแล้ว คือ การลดภาษีสินค้ากลุ่มแรก โดยสมาชิกจะลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 65% ของสินค้าที่มีการค้าขายในกลุ่ม RCEP ที่มีอยู่ประมาณ 8-9 พันรายการ โดยหลังจากนี้แต่ละประเทศจะไปทำแผนการลดภาษีให้เสร็จภายในปีหน้า และอีก 20% จะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี ส่วนสินค้าที่เหลืออีกประมาณ 15% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว แต่จะมีการเจรจาให้มีการปรับลดภาษีลงในระยะต่อไป
“การเปิดเสรีในกรอบ RCEP จะช่วยผลักดันให้กลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกประสบความสำเร็จ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับไทยในทุกด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการค้าบริการ เพราะหากเทียบ RCEP กับความตกลงTPP ในกลุ่ม RCEP จะมีความน่าสนใจตรงที่มีจีนกับอินเดียอยู่ด้วย ซึ่งมีประชากรกว่า 1,000 ล้านคนในแต่ละประเทศ แต่ใน TPP ไม่มีจีนและอินเดีย” น.ส.สุนันทากล่าว
โดยกลุ่ม RCEP ในปี 2557 มี GDP รวมกันเท่ากับ 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 29 ของโลก มีประชากร 3,500 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 29 ของการค้าโลก
น.ส.สุนันทากล่าวว่า ผู้นำอาเซียนยังจะประกาศจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 และวิสัยทัศน์ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ 10 ปีข้างหน้า (2559-2568) โดยจะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมีแนวทางการรับมือต่อประเด็นความท้าทายใหม่ๆ ที่อาเซียนอาจต้องเผชิญในอนาคต อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก
สำหรับแผนงานด้านเศรษฐกิจหลักๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้าอาเซียนจะมุ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการรวมตัวในระดับสูง โดยจะมีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้น ลดเลิกมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปรับปรุงพิธีการศุลกากร เปิดเสรีบริการและการลงทุนเพิ่มขึ้น การพิจารณาข้อตกลงยอมรับร่วมใหม่ๆ, การผลักดันให้อาเซียนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น การบังคับใช้กฎหมายแข่งขัน การมีระบบคุ้มครองผู้บริโภค นโยบายทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกัน, การมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจรายย่อย ขนาดย่อมและกลาง (MSMEs), การเป็นภูมิภาคที่ปรับตัว โดยมุ่งการร่วมมือในสาขาการขนส่ง โทรคมนาคม e-commerce การเงิน พลังงาน อาหาร เกษตร ป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ เหมืองแร่ และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสาขาใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และการเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก โดยจะทบทวน FTA ที่ทำกับคู่เจรจา และเพิ่มบทบาทอาเซียนในเวทีองค์กรด้านเศรษฐกิจโลก