“อภิรดี” เผยอาเซียนรับลูกผู้นำเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ 10 ปีข้างหน้า หลังเห็นชอบเริ่ม AEC แล้ว เน้นเปิดเสรีภาคบริการ แก้อุปสรรคการค้า การลงทุน ปรับมาตรฐานสินค้า ขีดเส้นไตรมาสแรกปี 59 มีแผนปฏิบัติการ ระบุอาเซียน-จีนยังบรรลุการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้น คาดการค้าลงทุน บริการขยายตัวแน่ พร้อมเร่งหารือญี่ปุ่น-เกาหลี ขยายการเปิดเสรี
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 21-22 พ.ย. 2558 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ว่า ผู้นำอาเซียนได้ให้ความเห็นชอบแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2025 ซึ่งเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้าของอาเซียนที่มุ่งการดำเนินงานต่อยอดจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่ผู้นำได้ให้ความเห็นชอบแล้วให้มีความเข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้อาเซียนมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจทั้งในเชิงกว้างและลึกมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คณะกรรมการสาขาด้านเศรษฐกิจของอาเซียนจะมีการหารือในการเปิดเสรีภาคบริการเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสาขาที่มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจของอาเซียน การพิจารณายกเลิกและลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุน การปรับประสานมาตรฐานสินค้าและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การเสริมสร้างระบบการอำนวยความสะดวกทางการค้า การสร้างความเข้มแข็งแก่ MSMEs และส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ในสาขาต่างๆ ให้เสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559
นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนและจีนยังสามารถสรุปพิธีสารยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้มีการลงนามพิธีสารไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2558 ซึ่งผลจากการเปิดเสรีที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การค้าการลงทุน และการค้าบริการของอาเซียนกับจีนมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะข้อตกลงฉบับใหม่ได้มีการปรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยืดหยุ่นและมีกระบวนการศุลกากรที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้าเพิ่มขึ้น มีการเปิดเสรีการค้าบริการ การส่งเสริมการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมหลายสาขามากขึ้น
ส่วนความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ผู้นำได้เร่งรัดให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการให้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการมีผลใช้บังคับโดยเร็ว และเร่งหาข้อสรุปการเจรจาด้านการลงทุน โดยล่าสุดสาขาบริการที่ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดให้อาเซียน เช่น บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านก่อสร้าง บริการด้านการเงิน และบริการด้านโทรคมนาคม ส่วนไทยมีแผนที่จะผูกพันการเปิดเสรีภาคบริการ เช่น บริการด้านคอมพิวเตอร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง บริการโทรคมนาคม บริการก่อสร้าง บริการสิ่งแวดล้อม บริการด้านการท่องเที่ยว บริการด้านนันทนาการ วัฒนธรรม และการกีฬา เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนและเกาหลีใต้ยังได้เห็นควรกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีให้มากขึ้น และเห็นพ้องให้มีการเจรจาเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ผู้นำได้ให้ความเห็นชอบผลการเจรจาในประเด็นสำคัญด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมถึงข้อบทต่างๆ และขอให้พยายามเจรจาให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 เพราะความตกลง RCEP จะส่งเสริมซึ่งกันและกันกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตโดยรวมของภูมิภาค อันจะนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในอนาคต