xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ต.ค.ลดลง 0.77% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในรอบปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อเดือน ต.ค.ยังคงลดลง 0.77% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 เหตุน้ำมันยังเป็นตัวฉุดหลัก แม้สินค้าหลายตัวจะเริ่มขยับขึ้น ส่วนยอดรวม 10 เดือนลบ 0.89% “พาณิชย์” คาดทั้งปี 58 น่าจะติดลบ 1.0% ถึงลบ 0.2%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค. 2558 เท่ากับ 106.49 ลดลง 0.77% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 2557 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในรอบปีนี้นับตั้งแต่เดือนม.ค. 2558 และเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้น 0.20% และเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ต.ค.) ลดลง 0.89%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อติดลบ 0.77% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2.12% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงลด 21.90% และเป็นปัจจัยหลักที่เป็นตัวฉุดเงินเฟ้อให้ลดลง ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่ม 0.10% เสื้อผ้า รองเท้า เพิ่ม 0.41% ค่าหนังสือ การศึกษา เพิ่ม 1.25%า ค่าเหล้า เบียร์ บุหรี่ เพิ่ม 2.14% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.75% สินค้าสำคัญราคาเพิ่มขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.79% บริโภคในบ้านเพิ่ม 1.14% ผักสดเพิ่ม 13.46% ผลไม้สด เพิ่ม 5.72% เป็นต้น

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ พบว่า มีสินค้าราคาสูงขึ้นถึง 200 รายการ เช่น ผักคะน้า กับข้าวสำเร็จรูป น้ำอัดลม ไก่ทอด พิซซ่า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ค่าเช่าบ้าน แป้งทางผิวกาย สบู่ถูตัว น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง 149 รายการ และสินค้าราคาลดลง 101 รายการ

นายสมเกียรติกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในไตรมาส 4 คาดว่าราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าอาหารจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปี ตามความต้องการใช้และการบริโภคที่มีมากขึ้น แต่ราคาน้ำมัน เดิมประเมินว่าจะขยับเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในช่วงปลายปีที่เข้าสู่ฤดูหนาว แต่เท่าที่ดูในขณะนี้ก็ยังทรงตัว และขยับขึ้นเล็กน้อย ทำให้เงินเฟ้อในไตรมาส 4 ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้น 0.28% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีเดียวกัน แต่ยังปรับตัวลดลง 0.34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2557

ส่วนการคาดการณ์ประมาณการเงินเฟ้อทั้งปี 2558 ยังคงอยู่ที่ ติดลบ 1% ถึงติดลบ 0.2% โดยเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่เงินเฟ้อติดลบ 0.9% ภายใต้สมมติฐาน ได้แก่ อัตราขยายตัวเศรษฐกิจของไทยปีนี้เหลือ 2.5-3.5% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 48-58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น