xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ย.ลดลง 1.07% ลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 “พาณิชย์” หั่นเป้าปี 58 ใหม่เป็นติดลบครั้งแรกรอบ 6 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ ก.ย.ลดลง 1.07% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เหตุน้ำมันยังเป็นตัวฉุดหลัก ส่วนยอดรวม 9 เดือนติดลบ 0.90% “พาณิชย์” ปรับประมาณการตัวเลขทั้งปีใหม่เหลือลบ 1% ถึงลบ 0.2% เป็นการประเมินติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับจากปี 52

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ย. 2558 เท่ากับ 106.28 เทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาลดลง 0.05% เทียบกับเดือน ก.ย. 2557 ลดลง 1.07% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันนับจากเดือน ม.ค. 2558 และเมื่อเทียบเฉลี่ย 9 เดือนของปี 2258 (ม.ค.-ก.ย.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลง 0.90%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้ต้นทุนสินค้าอื่นๆ ลดลงตาม โดยเฉพาะค่าโดยสารสาธารณะ และสินค้าทั่วไป และยังได้รับผลดีจากราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ที่ปรับตัวลดลง

“ปัจจัยหลักๆ ยังคงอยู่ที่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ก.ย. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงถึง 23.58% จึงเป็นแรงฉุดสำคัญ แม้ว่าสินค้ารายการอื่นๆ จะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ยังน้อยกว่าการลดลงของราคาน้ำมัน เลยทำให้เงินเฟ้อยังขยายตัวอยู่ในแดนลบ” นายสมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดของเงินเฟ้อที่ลดลง 1.07% พบว่ามาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2.36% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง 23.58% ค่าบริการมือถือและอินเทอร์เน็ต 0.02% ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ 2.15% ค่าโดยสารสาธารณะ 1.39% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.31% สินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน 1.76% อาหารบริโภคในบ้าน 1.02% ผักและผลไม้ 5.95% เครื่องประกอบอาหาร 0.30% เป็นต้น

นายสมเกียรติกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 9 เดือนนั้นยังไม่ใช่สัญญาณของการเกิดภาวะเงินฝืด เพราะหากหักราคาน้ำมันและอาหารสดออกไปจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงขยายตัวที่ 0.96% ซึ่งแสดงว่าเงินยังเฟ้อเล็กน้อย แต่ที่ติดลบก็เพราะแรงฉุดจากราคาน้ำมัน ขณะที่ภาวการณ์จับจ่ายใช้สอยยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวเลขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของกระทรวงการคลังที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเงินเฟ้อ 9 เดือนที่ยังคงติดลบ 0.90% กระทรวงฯ ได้ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2558 ใหม่ เป็นขยายตัวติดลบ 1% ถึงติดลบ 0.2% ซึ่งจะเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ที่เงินเฟ้อติดลบ 0.9% โดยปรับลดจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0.6-1.3% เนื่องจากสมมติฐานได้เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ อัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.5-3.5% จากเดิม 3-4% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 48-58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จากเดิม 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ จากเดิม 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ


กำลังโหลดความคิดเห็น