xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ค.ลดลง 1.05% ติดลบ 7 เดือนติดต่อกัน “พาณิชย์” จ่อปรับเป้าทั้งปีใหม่ ยันยังไม่เกิดเงินฝืด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ ก.ค.ลดลง 1.05% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เหตุน้ำมันเป็นตัวฉุดหลัก แต่สินค้ารายการอื่นยังคงปรับตัวสูงขึ้น “พาณิชย์” จ่อปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่จากเดิม 0.6-1.3% หลัง 7 เดือนติดลบ 0.85% ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืดแม้เงินเฟ้อลบต่อเนื่อง เหตุประชาชนไม่มั่นใจเศรษฐกิจจึงชะลอการใช้จ่ายมากกว่า

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค. 2558 เท่ากับ 106.57 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2558 ลดลง 0.07% ซึ่งกลับมาลดลงอีกครั้งหลังจากเดือน ม.ค.ที่ลดลง 0.59% และจากนั้นเป็นบวกมาโดยตลอด และเทียบกับเดือน ก.ค. 2557 ลดลง 1.05% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวลดลง 0.85%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค.ลดลง 1.05% มาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 2.22% ตามการลดลงของหมวดพาหนะ ขนส่ง และการสื่อสารที่ลดลง 6.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดมากถึง 22.53% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าสูงขึ้น 0.87% บันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้น 1.25% ยาสูบและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.01%

ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 1.10% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 0.10% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 7.76% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 0.54% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.49% อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 1.07% โดยอาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้น 0.54% นอกบ้าน 1.97% แต่เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลง 1.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 2.79%

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. จากการสำรวจสินค้าจำนวน 450 รายการ มี 165 รายการที่ราคาเพิ่มขึ้น เช่น ปลาทู กุ้งขาว ไข่ไก่ ผักสด ค่าเล่าเรียน ผลไม้สด โดยเฉพาะข้าวแกง ข้าวกล่อง เพิ่มขึ้น 0.25% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 0.12% ก๋วยเตี๋ยว เพิ่มขึ้น 0.29% ไม่เปลี่ยนแปลง 201 รายการ และลดลง 84 รายการ เช่น นมผง มะนาว ครีมนวดผม น้ำมันเชื้อเพลิง ผงซักฟอก เป็นต้น

นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ เพราะตัวเลขยังคงขยายตัวอยู่ในแดนลบมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมา 7 เดือนก็ยังติดลบ 0.85% ส่วนจะประเมินเป้าหมายเป็นเท่าไรขอประเมินปัจจัยต่างๆ ก่อน เพราะเดิมคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2558 อยู่ที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานจีดีพีเพิ่มขึ้น 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ขณะนี้ปัจจัยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะน้ำมันลดลงต่อเนื่อง ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนก็อ่อนค่าต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว

“ยังบอกไม่ได้คาดการณ์เงินเฟ้อใหม่จะเพิ่มหรือลดจากเดิม เพราะน้ำมันตลาดโลกลดลงมากก็จริง แต่เงินบาทก็อ่อนค่าลงตามไปด้วย ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศที่ดูเหมือนจะปรับลดลงก็ไม่ปรับลด เพราะต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากค่าบาทที่อ่อนค่าลง จึงต้องมาประเมินกันให้ชัด”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไปจะยังคงอยู่ในแดนลบ และน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 หรือตั้งแต่เดือน ก.ย.-ต.ค.เป็นต้น แต่ไตรมาสที่ 3 เงินเฟ้อน่าจะยังขยายตัวติดลบ 0.3-0.5% อยู่

ส่วนกรณีที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ต้นทุนสินค้าลดลง และราคาสินค้าลดลงในที่สุด แต่ที่ประชาชนไม่ซื้อสินค้าทั้งๆ ที่สินค้าส่วนใหญ่ราคาลดลงเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ชะลอการใช้จ่ายมากกว่า

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเดือน ก.ค. เท่ากับ 105.93 เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 0.94% เทียบกับเดือน ก.ค. 2557 และเฉลี่ย 7 เดือนเพิ่มขึ้น 1.18%


กำลังโหลดความคิดเห็น