เงินเฟ้อ มิ.ย.ลดลง 1.07% ขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน “พาณิชย์” ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด เหตุน้ำมันเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดดัชนีให้ลดลง ขณะที่สินค้าก็ยังปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่มาก “ธนวรรธน์” ชี้เงินเฟ้อติดลบเป็นการฝืดทางเทคนิค เหตุกำลังซื้อยังมีแต่เริ่มแผ่ว แนะรัฐอัดฉีดกระตุ้น
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน มิ.ย. 2558 เท่ากับ 106.64 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2558 สูงขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2557 ลดลง 1.07% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือน และเมื่อเทียบเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) เงินเฟ้อยังคงลดลง 0.81%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลง 1.07% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.90% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง คือ น้ำมันเชื้อเพลิงลด 19.69% หมวดการสื่อสารลด 0.04% นอกนั้นมีราคาแพงขึ้น เช่น ค่าตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่ม 0.93% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่ม 0.49% ค่ายาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 2.10% ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.51% สินค้าที่มีราคาแพงขึ้น เช่น อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 0.65% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 1.92% ผลไม้สด เพิ่ม 3.57% ผักสด เพิ่ม 2.67% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 0.83% ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 3.40% เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำลด 1.29% เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อแยกสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่า สินค้าที่มีราคาสูงขึ้นมีจำนวน 165 รายการ หรือมีสัดส่วน 47.58% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม สินค้าไม่เปลี่ยนแปลงราคา 201 รายการ สัดส่วน 38.20% และสินค้าที่มีราคาลดลง 84 รายการ สัดส่วน 14.22%
นายสมเกียรติกล่าวว่า เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 6 เดือนยังไม่มีสัญญาณเงินฝืด เพราะหากเป็นภาวะเงินฝืดประชาชนจะต้องไม่บริโภคสินค้าเพราะคาดว่าราคาสินค้าจะปรับตัวลดลงอีก แต่สถานการณ์ปัจจุบันการบริโภคยังเป็นปกติอยู่ เพียงแต่ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น และราคาสินค้าก็ยังปรับตัวสูงขึ้น แต่เพิ่มขึ้นไม่มาก ส่วนเงินเฟ้อที่ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพราะน้ำมันตัวเดียวที่เป็นตัวฉุดสำคัญ เนื่องจากฐานราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2557 อยู่ในระดับสูง เพิ่งจะมาปรับลดลงหลังจากเดือน ก.ย.ไปแล้ว
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อ คาดว่าไตรมาส 3 จะยังคงขยายตัวติดลบ 0.3-0.5% แต่ไตรมาส 4 คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้น เพราะแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะขยับเพิ่มขึ้น โดยยังประเมินเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีอยู่ในกรอบเดิม คือ 0.6-1.3%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 6 เดือนเป็นสัญญาณเงินฝืดในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เงินฝืดในเชิงนโยบาย เนื่องจากกำลังซื้อยังมีอยู่ แต่เป็นกำลังซื้อที่แผ่วบาง เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน มิ.ย.ก็ยังเป็นบวกในระดับต่ำกว่า 1% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังไม่ฟื้นตัวพอ แต่เชื่อว่าเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยลง โดยไตรมาส 3 ยังติดลบอยู่ เพราะมีปัญหาเรื่องภัยแล้งเข้ามากระทบ
ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งการลดค่าครองชีพให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง การเร่งผลักดันส่งออก การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และการลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อติดลบนานเกินไปก็จะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ