เงินเฟ้อ พ.ค.ลดลง 1.27% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติสูงสุดในรอบ 5 ปี 8 เดือน “พาณิชย์” ยันไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เหตุน้ำมันเป็นตัวฉุดสำคัญ ประเมินเป้าทั้งปียังอยู่ที่ 0.6-1.3%
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน พ.ค. 2558 เท่ากับ 106.53 ลดลง 1.27% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2557 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 และทำสถิติติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 8 เดือน และเมื่อเทียบเดือน เม.ย. 2558 ที่ผ่านมาสูงขึ้น 0.17% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 5 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-พ.ค.) ยังคงลดลง 0.77%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน พ.ค.ติดลบ 1.27% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว เป็นผลมาจากหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 2% สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงถึง 20.54% ซึ่งถือเป็นตัวฉุดสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเดือนนี้ลดลง และยังมีหมวดการขนส่งและการสื่อสารที่ลด 6.36% ส่วนสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่ม 0.50% เหล้า เบียร์ บุหรี่ เพิ่ม 2.03%
ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 0.11% โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน 1.72% อาหารบริโภคในบ้าน 0.57% เครื่องประกอบอาหาร 0.66% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.82% ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 0.06% แต่หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลง 1.18% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.98% ผักและผลไม้ ลด 0.23%
ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้าที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการในเดือน พ.ค. พบว่า สินค้าที่ราคาสูงขึ้นมี 164 รายการ เช่น ไข่ ผักกาดขาว ถั่วฝักยาว ส้มเขียวหวาน เงาะ ทุเรียน มังคุด สบู่ น้ำมัน ค่าเล่าเรียน เป็นต้น สินค้าที่ราคาลดลง 95 รายการ เช่น กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักบุ้ง มะนาว มะม่วง ค่าไฟฟ้า น้ำยาล้างจาน เป็นต้น และสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงราคา 191 รายการ
นายสมเกียรติกล่าวว่า เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมากและลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ยืนยันว่าไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เพราะกำลังซื้อของคนไม่ได้ลดลง แต่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมากทำให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับลดลงมา โดยราคาน้ำมันในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคาสูงขึ้น เทียบกันอย่างไรราคาก็ลดลง ขณะที่ราคาสินค้าอื่นๆ มีทั้งปรับขึ้น ลดลง และทรงตัว ไม่ได้มีปัญหาคนไม่ซื้อ ไม่มีกำลังซื้อ และยังได้รับผลดีจากการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย ที่จะมีผลตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.ด้วย
“หากเข้าสู่ภาวะเงินฝืด หมายถึงคนไม่ซื้อสินค้า แต่ปัจจุบันคนยังมีความต้องการซื้อสินค้าอยู่ และเมื่อดูเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักราคาน้ำมันกับกลุ่มอาหารสดออกไป ก็ยังพบว่ายังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายสมเกียรติกล่าว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2558 สูงขึ้น 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ โดยคาดว่าไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะยังคงติดลบ 1.1% หลังจากนั้นจะปรับตัวสูงขึ้นจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทั้งนี้ หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายลงอีก โดยทุกๆ 1% จะมีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.03%