xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.พ.ติดลบ 0.52% สูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน เป็นงง! ข้าวของแพงสวนทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ ก.พ.ติดลบอีก 0.52% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และทำสถิติลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน แต่ผลสำรวจพบสินค้าส่วนใหญ่ราคาขึ้น โดยเฉพาะอาหารบริโภคทั้งในบ้านนอกบ้าน “พาณิชย์” ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ หดเหลือ 0.6-1.3% จากเดิม 1.8-2.5% เผยเงินฝืดหรือไม่ต้องรอประเมินอีกครั้งหลังน้ำมันนิ่ง

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.พ. 2558 เท่ากับ 106.15 ลดลง 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 2557 ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน และติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 5 เดือน และเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2558 เพิ่มขึ้น 0.12% ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.47%

สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลง 0.52% เป็นผลจากสินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.71% สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 20.92% แต่ค่าโดยสารสาธารณะราคาเพิ่มขึ้น 1.26% ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่มขึ้น 1.33% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 1.72% สินค้าสำคัญที่มีราคาเพิ่มขึ้น เช่น อาหารบริโภคนอกบ้าน 3.74% อาหารบริโภคในบ้าน 3.07% เครื่องประกอบอาหาร 2.94% เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 0.97%

ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายการสินค้า 450 รายการที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 165 รายการ เช่น ยาสีฟัน ผงซักฟอก เครื่องประกอบอาหาร ค่าเช่าบ้าน ผลไม้ ค่าโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีราคาคงที่ 184 รายการ และสินค้าราคาลดลง 101 รายการ

นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อช่วงไตรมาสแรกปี 2558 จะลดลง 0.4% เป็นผลจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง และรัฐบาลมีการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. รวมทั้งมีมาตรการดูแลระดับราคาสินค้าให้แก่ประชาชน แต่หลังจากไตรมาสแรกไปแล้วเชื่อว่าเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูง โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่าจะมีการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาขยับขึ้น และส่งผลเงินเฟ้อมีอัตราสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี กระทรวงฯ ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในกรอบ 1.8-2.5% เหลือ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานใหม่ คือ ระดับราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-35 บาท/เหรียญสหรัฐ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-4%

“การปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีลดลงมามากมาจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ปัจจัยหลักๆ คือ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงมาก ส่วนจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่ยังตอบไม่ได้ ต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันให้นิ่งกว่านี้ก่อนถึงจะประเมินได้ เพราะน้ำมันที่ลดลงมีผลต่อต้นทุนสินค้าที่ลดลง แต่ก็ยอมรับว่าคนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น” นายสมเกียรติกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น