xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ ก.ค.เพิ่ม 0.10% สูงขึ้นเป็นเดือนที่ 4 เหตุราคาอาหารขยับขึ้นแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินเฟ้อ ก.ค.เพิ่มขึ้น 0.10% สูงขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เหตุราคาหมวดอาหารขยับขึ้นแรง แต่เฉลี่ย 7 เดือนยังคงลดลง 0.07% “พาณิชย์” เตรียมปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่เดือนหน้า คาดยังอยู่ในช่วง 0.0-0.1%

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค. 2559 เท่ากับ 106.68 เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. 2558 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ถ้าเทียบกับเดือน มิ.ย. 2559 ลดลง 0.35% เป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) ลดลง 0.07%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค.เพิ่มขึ้น 0.10% เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.83% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ เพิ่ม 2.33% ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่ม 3.02% ผักและผลไม้ เพิ่ม 5.75% อาหารบริโภคนอกบ้าน เพิ่ม 0.78% อาหารบริโภคในบ้าน เพิ่ม 1.22% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.55% เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 0.78% ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.84% สินค้าสำคัญราคาลดลง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ลด 8.03% ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก ลด 1.41% ส่วนสินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น หมวดยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 13.06% จากการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่

ทั้งนี้ เมื่อแยกรายการสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 450 รายการ พบว่า มีสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 149 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 41.81% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม เช่น ไข่ไก่ เพิ่ม 2.07% ผักบุ้ง เพิ่ม 7.09% ครีมเทียม เพิ่ม 1.12% น้ำมันพืช เพิ่ม 1.03% กับข้าวสำเร็จรูป เพิ่ม 0.24% ข้าวผัด เพิ่ม 0.38% ผงซักฟอก เพิ่ม 0.57% น้ำยารีดผ้า เพิ่ม 0.15% ยาสีฟัน เพิ่ม 0.53% แป้งทาผิวกาย เพิ่ม 0.37% และยังพบว่าน้ำอัดลมได้ปรับราคาสูงขึ้นทั้งขวดและกระป๋อง แต่เป็นการปรับขึ้นจากการยกเลิกโปรโมชัน ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 193 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 41.63% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม และสินค้าราคาลดลง 108 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 16.56% ของสัดส่วนน้ำหนักรวม

นายสมเกียรติกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการปรับการคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2559 ใหม่ ในการแถลงตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ส.ค. 2559 ซึ่งขณะนี้ยังใช้คาดการณ์เดิม คือ ขยายตัว 0.0-1.0% ภายใต้สมมติฐานอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ 3.3% (2.8%-3.8%) ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 35 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล) และอัตราแลกเปลี่ยน 37 บาท/เหรียญสหรัฐ (36-38 บาท/เหรียญสหรัฐ) โดยไตรมาส 3 คาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัว 0.3% และไตรมาส 4 คาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัว 1.42% ส่งผลเงินเฟ้อทั้งปีขยายตัวที่ระดับ 0.5%

“คาดว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่จะประมาณการณ์ใหม่ ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ยังคงขยายตัว 0-1.0% แต่ต้องดูระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกด้วย เพราะตอนนี้ปรับตัวลงมาอีก แต่ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับฐานปีที่แล้ว โดยคิดว่าเงินเฟ้อทั้งปี น่าจะบวกไม่เกิน 0.5% แต่ถ้าจะบอกว่าเงินเฟ้อมีโอกาสบวกถึง 2% คงเป็นไปไม่ได้ ถ้าบอกว่าติดลบ ยังมีโอกาสมากกว่า”

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) หักอาหารสดและพลังงาน เดือน ก.ค. 2559 เท่ากับ 106.73 สูงขึ้น 0.76% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2558 และสูงขึ้น 0.06% เทียบกับเดือน มิ.ย. 2559 และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.73%
กำลังโหลดความคิดเห็น