เงินเฟ้อ เม.ย. ติดลบ 1.04% ลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน เผยน้ำมันเป็นตัวฉุดหลัก ยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด เผยอาหารสำเร็จรูปยังคงเพิ่มสูงขึ้น ทั้งกินในบ้านนอกบ้าน
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน เม.ย. 2558 เท่ากับ 106.35 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2558 สูงขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 2557 ลดลง 1.04% ซึ่งขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันนับจากเดือน ม.ค. 2558 และยังเป็นการขยายตัวติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 7 เดือน และเมื่อเทียบเฉลี่ย 4 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-เม.ย.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วลดลง 0.65%
สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน เม.ย.ขยายตัวติดลบ เนื่องจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.93% โดยเป็นการลดลงของน้ำมันเชื้อเพลิง 22.69% การสื่อสารลดลง 0.03% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าสูงขึ้น 0.81% เคหสถานสูงขึ้น 1.38% การรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้น 1.02% ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้น 1.53% การบันเทิง การอ่าน การศึกษา สูงขึ้น 0.59% ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 2.38%
สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น 0.60% เป็นการสูงขึ้นของข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 0.35% ผักและผลไม้สูงขึ้น 0.58% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 1.54% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.84% อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น 1.33% แยกเป็นอาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้น 0.89% นอกบ้านสูงขึ้น 2.08% ขณะที่เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลง 0.55% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลด 2.02%
“เงินเฟ้อเดือน เม.ย.ที่ติดลบ 1.04% เป็นเพราะราคาน้ำมันเป็นตัวหลักที่ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเดือนนี้ลดลงถึง 22.69% ทำให้ต้นทุนสินค้าตัวอื่นๆ ลดลงตาม จึงไม่มีแรงกดดันต่อราคาสินค้า ไม่ใช่ว่าคนไม่อยากซื้อ ยังซื้อปกติ ไม่ได้เกิดภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด ซึ่งดูได้จากเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักกลุ่มพลังงานและอาหารสดออกไป ยังคงเพิ่มขึ้น 1.02%” นายสมเกียรติกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงประเมินเงินเฟ้อทั้งปีตามกรอบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ 0.6-1.3% ภายใต้สมมตฐานเศรษฐกิจไทยเติบโต 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่เฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ