xs
xsm
sm
md
lg

เอ็กโก้ กรุ๊ป รุกธุรกิจไฟฟ้าที่อินโดฯ-ฟิลิปปินส์เต็มสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลิตไฟฟ้ารุกธุรกิจไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เหตุดีมานด์ความต้องการใช้ไฟสูง โดยมีแผนขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในประเทศดังกล่าว ส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่นิคมฯ ทวายรอความต้องการใช้ไฟอีก 2 ปีค่อยก่อสร้าง ลั่นกลางปีหน้าโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 เดินเครื่องจ่ายไฟทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ชี้หากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้เกิดไม่ได้ก็สามารถผุดโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมเดิมได้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจ โดยเน้นลงทุนที่อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง โดยจะให้ความสำคัญในการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม เช่น ที่ฟิลิปปินส์ บริษัทฯ มีแผนขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอคเพิ่มขึ้นอีก 300 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ได้สามารถหาลูกค้ารับซื้อไฟได้แล้วกึ่งหนึ่งของกำลังการผลิต และอยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปีหน้า และแล้วเสร็จในปี 2562-2563

ส่วนการเจรจาซื้อหุ้นเพิ่มจากผู้ถือหุ้นเดิมในโรงไฟฟ้ามาซินลอคอีก 8% จากปัจจุบันที่เอ็กโก้ถือหุ้นอยู่ 40.95% ล่าสุด ได้ยุติการเจรจาชั่วคราว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบโครงสร้างการเสียภาษีทำให้มีผลต่อการประเมินมูลค่าราคาหุ้นได้ คงต้องรอให้ทุกอย่างแล้วเสร็จก่อนค่อยมีการเจรจาอีกครั้ง

นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนา เวนทูรา (SBPL) ในเมืองเควซอน ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาเงินกู้จากสถาบันการเงินเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะจ่ายไฟได้ในปี 2561

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานใต้พิภพ “สตาร์เอ็นเนอร์ยี่” ที่อินโดนีเซีย ที่เอ็กโก้ ถือหุ้น 20% ก็มีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 227 เมกะวัตต์ สามารถขยายได้ถึง 400 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจาะสำรวจไอน้ำว่ามีเพียงพอมากน้อยแค่ไหน โดยจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตทีละ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้งโครงการนี้คาดว่าจะได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้า หลังจากก่อนหน้านี้ การไฟฟ้าของอินโดฯ ได้บีบให้ขายไฟในอัตราที่ถูกอยู่ที่หน่วยละ 6-7 เซ็นต์ จากปัจจุบันค่าไฟอยู่ที่ 12-13 เซ็นต์/หน่วย คาดว่าปีหน้าการเจรจาจะได้ข้อยุติ และจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มองหาโอกาสการลงทุนซื้อกิจการโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ ในอินโดนีเซียด้วย

นายสหัส กล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้าที่นิคมฯ ทวาย ประเทศพม่านั้น บริษัทฯ มีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง เฟสแรก กำลังการผลิต 370 เมกะวัตต์ ที่นิคมฯ ทวายในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562 ซึ่งเบื้องต้นทางนิคมฯ จะซื้อไฟฟ้าจากท้องถิ่นก่อน 10-20 เมกะวัตต์ และเมื่อความต้องการใช้ไฟฟ้าในนิคมฯ เพิ่มขึ้น ทางบริษัทก็จะเป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยบริษัทจะถือหุ้น 50% ร่วมกับทางกลุ่ม อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

ส่วนที่ลาว ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำอีก 2-3 โครงการ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำเทิน 1 และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ-ปากเม็ง ที่จีนเป็นเจ้าของโครงการ เป็นต้น

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 กำลังผลิต 930 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบในวันที่ 19 มิ.ย.2559 ซึ่งเป็นวันที่โรงไฟฟ้าขนอมเดิมหมดสัญญาการจ่ายไฟ ทำให้ปีหน้าบริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 ประมาณ 500-600 ล้านบาท ขณะที่โรงไฟฟ้าชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม กำลังการผลิต 50เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปลายปี 2559 สร้างกำไรปีละ300-400 ล้านบาท ในปี 2560 พร้อมกับการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าเอสพีพีอีก 3 โรงๆ ละ 120เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปี 2560 ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันเมกะวัตต์

ทั้งนี้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ก็สามารถใช้พื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมเดิมสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ขนาด 900 เมกะวัตต์ได้ เนื่องจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยน้อยลง ก็คงต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงแทน

นายสหัส กล่าวต่อไปว่า จากการเปิดเสนอขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าระยองที่หมดสัญญาจ่ายไฟนั้น ล่าสุด มีผู้ยื่นเสนอซื้อเพียงรายเดียว และเป็นการเสนอราคาที่ต่ำ ดังนั้น บริษัทฯ จะเปิดเสนอขายอีกครั้ง ถ้าไม่มีผู้สนใจก็จะยุติรอจังหวะอีกครั้ง ขณะที่พื้นที่โรงไฟฟ้าระยองประมาณ 500 ไร่ ก็ได้จ้างที่ปรึกษาว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป เช่น ทำนิคมฯ และมีโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่นั้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น