อุบลราชธานี - ตัวแทนชาวบ้านเขื่อนปากมูล อุบลราชธานี รวมตัวจัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่อุทิศส่วนกุศลให้อดีตแกนนำที่ล่วงลับ ยืนยันยังเรียกร้องให้ทดลองเปิดเขื่อนศึกษาผลดีผลเสีย 5 ปี ก่อนเปิดเขื่อนปากมูลคืนธรรมชาติแบบถาวร ขณะกรรมการชุด ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ศึกษาข้อมูลวิจัยทั้งเก่า-ใหม่นำมาสรุปใช้แก้ปัญหาให้ชาวบ้านต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ก.พ.) ที่สหกรณ์ปากมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนจาก 56 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ คือ พิบูลมังสาหาร โขงเจียม และสิรินธร จัดงานบุญกุ้มข้าวใหญ่ เพื่อร่วมกันทำบุญและรำลึกถึงแกนนำและชาวบ้านที่ร่วมกันต่อสู้และเสียชีวิตไปแล้ว เช่น น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
หลังจากนั้นได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ของชาวบ้านที่ผ่านมา รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคตของกลุ่มชาวบ้านปากมูลที่เรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร
ขณะที่เขื่อนปากมูลวันนี้ยังปิดประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยมีระดับการกักเก็บที่ 107 ม.รกท. ต่ำกว่าระดับการกักเก็บสูงสุดประมาณ 1 เมตร
ด้านนายปฏิวัติ ปิ่นทอง ชาวบ้านดอกสำราญ ต.กุดชมพู อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวถึงแนวทางการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านปากมูลว่า ยังคงต้องการให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 5 ปี เพื่อศึกษาผลดีและผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพื่อนำไปสู่การเปิดประตูเขื่อนอย่างถาวร และต้องการให้รัฐบาลเยียวยาเงินจำนวน 310,000 บาทให้แก่ชาวบ้าน 3 อำเภอจำนวนกว่า 2,600 ครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานการแก้ปัญหาของชาวบ้านปากมูล ได้มีการตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการขึ้นมาสรุปข้อมูลทั้งเก่าและใหม่ เพื่อใช้แก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านรวม 5 ประเด็น
1. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านทุกฝ่าย การเปิด-ปิดเขื่อนปากมูลปี 2559 ควรใช้ข้อมูลการปิด-เปิดเขื่อนปากมูลในปี 2558 และข้อมูลย้อนหลังตามความจำเป็นในการกำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดช่วงเวลาเปิด-ปิด โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำการเกษตรกรรม การผลิตน้ำประปา การเลี้ยงปลาในกระชัง การผลิตไฟฟ้า และการจับปลาตามฤดูกาล โดยให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ทั่วถึง และเพียงพอ ตามข้อเท็จจริงของการใช้ทรัพยากรน้ำในด้านต่างๆ
2. การส่งเสริมการทำ “วังปลา” และการกำหนดเขตห้ามจับปลา โดยมีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลา และสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องใน “วิถีชีวิต” ของคนหาปลา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมลุ่มน้ำปากมูลที่มีมายาวนาน 3. ปรับปรุงและซ่อมแซมสถานีสูบน้ำแพลอย และระบบคลองส่งน้ำ ตลอดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลให้ใช้ประโยชน์ได้จริง
ส่วนมาตรการระยะยาว 2. ด้านเกษตรกรรม ให้จัดสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ที่เหมาะสม และเพิ่มสถานีแพลอยสูบน้ำ ตลอดจนปรับเปลี่ยนสถานีสูบน้ำแบบอาคารถาวรให้เป็นสถานีแพลอยกระจายไปตามลำน้ำมูลให้ทั่วถึง
3. ด้านการประมง ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ดำเนินการศึกษาและจัดสร้างบันไดปลาโจน หรือคลองเทียม หรือระบบวิศวกรรมสมัยใหม่ที่จะช่วยให้ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพเข้าและออกลำน้ำมูลได้ในช่วงฤดูกาลตามธรรมชาติ
4. ด้านพลังงาน เนื่องจากปัญหาของการผลิตไฟฟ้า ประเด็นหลักเป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องปริมาณไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน 2 มาสู่พื้นที่อีสานตอนล่าง และจัดสร้างสายส่งระหว่างสถานีย่อยยโสธรกับสถานีย่อยอุบลราชธานี 2
5. ด้านผลกระทบการสูญเสียอาชีพ จำเป็นต้องเยียวยาหรือชดเชยความสูญเสียให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย