xs
xsm
sm
md
lg

ลาวย้ำประโยชน์เขื่อน ระดมน้ำ 4 อ่างใหญ่เหนือใต้ลงแม่โขงช่วยเพื่อนบ้านฝ่าแล้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>แผนภูมิแสดงที่ตั้งเขื่อน 3 แห่งในภาคเหนือของลาว ที่ระดมปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงตั้งแต่ 23 มี.ค.เป็นต้นมา จากบนสุดคือ เขื่อนน้ำอู 2 น้ำคาน 2 แขวงหลวงพระบาง กับเขื่อนน้ำงึม แขวงเวียงจันทน์ แห่งที่สี่คือน้ำเทิน 2 อยู่ใต้ลงไปในแขวงคำม่วน รัฐมนตรีลาวได้ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์มหาศาลของเขื่อนผลิตไฟฟ้าในยามนี้. </b>

MGRออนไลน์ -- ลาวได้ชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของการสร้างเขื่อน ในขณะระดมน้ำจาก 4 อ่างเก็บน้ำใหญ่ รวมทั้งอ่างน้ำงึม กับอ่างน้ำเทิน 2 ซึ่งในปัจจุบันเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดสองแห่งในประเทศ ปล่อยลงแม่น้ำโขงให้มากขึ้น และ จะดำเนินไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคเดียวกัน บรรเทาภัยอันเกิดจากความแห้งแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเวียดนาม เป็นพื้นที่การเกษตรหลัก ที่กำลังได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส

ลาวปล่อยน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าใน 4 ลำน้ำสาขาใหญ่ของแม่น้ำโขง คือ ลำน้ำอู น้ำคาน น้ำงึม และ น้ำเทิน ซึ่งจะทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่เกี่ยวข้องบางแห่ง "มีขอบเขตจำกัด" ยกเว้นเขื่อนน้ำงึมที่มีปริมาณน้่ำมากพอ สื่อของทางการรายงานอ้างนายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่

การปล่อยน้ำเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เป็นต้นมา ภายหลังการประชุม พิจารณาและรวบรวมข้อมูล น้ำปล่อยจากเขื่อนต่างๆ ในลาว รวมกันเป็นปริมาณ 1,136 ลูกบาศเมตรต่อวินาที สมทบกับน้ำที่ไหลจากแม่น้ำมูล และ ลำน้ำสายอื่นๆ ในประเทศไทยอีก 220 ลบม./วินาที และ น้ำจากเขื่อนจีนอีกประมาณ 2,254 ลบม./วินาที จะทำให้ได้น้ำทั้งหมดเป็นปริมาณ 3,611 ลบม./วินาที ลงสู่แม่น้ำโขง ผ่านดินแดนลาวเข้ากัมพูชา และ คาดว่า จะไปถึงเขตที่ราบปากแม่น้ำราววันที่ 2 เม.ย.นี้

นายคำมะนีกล่าวว่า การปล่อยน้ำเพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้าน จะดำเนินไปจนถึงสิ้น พ.ค. ควบคู่กับการผลิตกระแสไฟฟ้า สนองการใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออกอย่างเป็นปรกติ แต่ได้เรียกร้องไปยังผู้ประกอบการ ในท้องถิ่นต่างๆ ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และ อย่างได้ประโยชน์

รัฐมนตรีชี้ให้เห็นว่า เขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้านั้นมีประโยชน์มากมาย ใช้งานได้อเนกประสงค์ เก็บกักน้ำในฤดูฝนช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดในตอนล่างลงไป และ ปล่อยน้ำที่เก็บกักไว้ใช้ในฤดูแล้ง หลายแห่งยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งท่องเที่ยว และ มีคุณประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับภัยแห้งแล้งในปัจจุบัน

เขื่อนน้ำอู 2 ขนาด 120 เมกะวัตต์ สร้างกั้นลำน้ำอูตอนล่าง ในเขตเมือง (อำเภอ) งอย แขวง (จังหวัด) หลวงพระบาง เป็นหนึ่งในบรรดาเขื่อนที่สร้างแล้วเสร็จล่าสุดในลาว เพิ่งเดินเครื่องปั่นไฟหน่อยแรก ในเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว

ส่วนลำน้ำคานเป็นอีกสาขาหนึ่ง ไหลจากทางใต้ไปทางทิศเหนือ จากเขตป่าต้นน้ำเมืองเงิน แขวงหลวงพระบาง กับแขวงเชียงขวาง ลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองหลวงพระบาง ปัจจุบันมีเขื่อนกั้นแล้วเสร็จ 1 แห่งคือ น้ำคาน 2 ขนาด 130 เมกะวัตต์ เพิ่งเปิดเดินเครื่องปั่นไฟปลายปีที่แล้วเช่นกัน

สำหรับเขื่อนน้ำงึม (1) เป็นเขื่อนเก่าแก่และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของลาว เป็นที่รู้จักกันมานานหลายสิบปี และ พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลำน้ำงึม ทางทิศเหนือของนครเวียงจันทน์ นอกจากจะผลิตไฟฟ้าสนองความต้องการภายในและส่งจำหน่ายให้แก่ไทยแล้ว ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และ ยังเป็นแหล่งกาสิโนแห่งแรกของประเทศอีกด้วย

สำหรับน้ำเทิน 2 ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 1,070 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการร่วมลงทุน ระหว่างบริษัทไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศส บริษัทจากไทย และ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก สร้างกั้นลำน้ำเทิน แขวงคำม่วน ในภาคกลางของลาว แต่ปล่อยน้ำลงสู่เซบั้งไฟ ลำน้ำอีกสายหนึ่งที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง.
กำลังโหลดความคิดเห็น