“สนพ.” เผยไทยอยู่ระหว่างการเจรจากับ สปป.ลาวว่าจะลงนาม MOU ซื้อไฟจาก สปป.ลาวฉบับใหม่อย่างไร หลัง MOU เดิมซื้อไฟ 7 พันเมกะวัตต์จะหมดสิ้นปีนี้ โดยล่าสุด สปป.ลาวเสนอขายเพิ่มโครงการพลังน้ำน้ำเทิน 1 และปากเบ่ง แย้มอนาคตอาจซื้อไฟจาก สปป.ลาวโดยตรงเพราะจะเป็นแบบ Grid to Grid พร้อมเสนอให้ไทยเป็นศูนย์กลางจ่ายไฟอาเซียน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการเยี่ยมโรงไฟฟ้าหงสา ที่ สปป.ลาว ว่า ข้อตกลงการ (MOU) ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว 7,000 เมกะวัตต์จะสิ้นสุดกำหนดเวลาในสิ้นปีนี้ ขณะนี้รัฐบาลไทยและ สปป.ลาวกำลังหารือว่าจะมีการลงนามฉบับใหม่อย่างไรและจะขยายการรับซื้ออีกมากน้อยเพียงใด โดยยอมรับว่าโครงการผลิตไฟฟ้าอื่นๆ ในลาวที่มีศักยภาพที่จะขายไฟฟ้ากลับมาในไทยยังมีอีกพอสมควร เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเซกอง 4 กำลังผลิต 240 เมกะวัตต์, เซกอง 5 กำลังผลิต 330 เมกะวัตต์, น้ำกง 1 กำลังผลิต 75 เมกะวัตต์ และเชนาคาม จำนวน 660 เมกะวัตต์ เป็นต้น
ปัจจุบันโครงการที่อยู่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 5,421 เมกะวัตต์ ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบภายในปี 2562 และ สปป.ลาวได้เสนอเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการพลังน้ำน้ำเทิน 1 กำลังผลิต 520 เมกะวัตต์ และปากเบ่ง 798 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือให้ครบตาม MOU เป็นการซื้อขายแแบบ Grid to Grid โดยในส่วนปากเบ่งนั้นเป็นโครงการที่นักลงทุนจีนและ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีจะลงทุนร่วมกัน
“อนาคตการรับซื้อไฟฟ้าอาจจะเป็นการรับซื้อผ่านทางการไฟฟ้าลาว จากเดิมที่เป็นการรับซื้อไฟฟ้าโดยตรงจากผู้ผลิต เนื่องจากในอนาคตจะมียุทธศาสตร์เชื่อมโยงไฟฟ้าระหว่างกันในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งจะทำให้การซื้อไฟฟ้าในภูมิภาคเป็นตลาดเสรี (GMS POWER POOL) ช่วยจะสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าในอาเซียน” นายทวารัฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการหารือกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงล่าสุดยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะให้ประเทศใดเป็นศูนย์กลางการควบคุมระบบไฟฟ้าในโครงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงไทยและจีนเสนอเป็นศูนย์ควบคุมและการประชุม ล่าสุดไทยได้ยืนยันอีกรอบ ส่วนเวียดนามได้สนับสนุนไทย โดยคาดจะสรุปได้ในการประชุมร่วมที่เวียดนามในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ไทยมีที่ตั้งเหมาะสมสำหรับการสั่งจ่ายไฟฟ้าในประเทศลุ่มน้ำโขงและอาเซียนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้ากำลังเติบโต ในขณะที่ประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า เช่น สปป.ลาวก็พร้อมจะผลิตจำหน่ายตามโครงการแบตเตอรี่แห่งอาเซียน โดยลาวกำลังปรับระบบผลิตไฟฟ้าในประเทศโดยให้เอกชนขายไฟฟ้าแก่การไฟฟ้าแห่ง สปป.ลาว แล้วทางรัฐบาลจะขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งให้แก่สมาชิกอาเซียนในรูปแบบ Grid to Grid จากเดิมที่ อกชนลงทุนโรงไฟฟ้าและขายตรงแก่ประเทศที่ต้องการไฟฟ้า
สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป.ลาว ซึ่งจะมีพิธีเปิดเดินเครื่องจำหน่ายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการวันที่ 9 ธันวาคมนี้ หลังจากเริ่มเดินเครื่องผลิตมาแล้ว 2 ใน 3 หน่วยผลิต เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ และหน่วยสุดท้ายพร้อมจำหน่ายเดือนมีนาคม ปี 2559 โดยจะขายไฟฟ้าแก่ไทย 1,473 เมกะวัตต์
นายบุญชัย จรัญวรพรรณ ประธานบริหารการก่อสร้างโรงไฟฟ้า บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด กล่าวว่า โครงการหงสาจะมีรายได้จากการขายไฟฟ้าประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี เดิมคาดจะลงทุนรวม 3,710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่าสุดคาดว่าจะลดลงราว 250 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็จะเป็นส่วนคืนทั้งส่วนหนี้และทุนที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 75ต่อ 25 อย่างไรก็ตาม จากปริมาณถ่านหินสำรอง 577.4 ล้านตัน ซึ่งโรงไฟฟ้าใช้ 14.3 ล้านตัน/ปี คิดเป็นปริมาณถ่านหินที่ต้องการใช้ตลอดอายุสัมปทาน 25 ปีรวม 370.8 ล้านตัน ทำให้ยังมีปริมาณถ่านหินสำรองเหลือกว่า 200 ล้านตัน ซึ่งสามารถจะใช้เป็นเชื้อเพลิงรองรับการผลิตไฟฟ้าได้อีกราว 600-700 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้จะก่อสร้างได้หรือไม่คงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยพร้อมจะเพิ่มปริมาณรับซื้อในอนาคตหรือไม่
โครงการโรงไฟฟ้าหงสาดำเนินการโดยบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ซึ่งมีกลุ่ม บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ถือหุ้น 40%, กลุ่ม บมจ.บ้านปู (BANPU) ถือหุ้น 40% และรัฐวิสาหกิจ สปป.ลาวถือหุ้น 20%