xs
xsm
sm
md
lg

“สนพ.” รุดตรวจโรงไฟฟ้าหงสาเครื่องที่ 3 พร้อมป้อนระบบ มี.ค. 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนพ.รุดตรวจเยี่ยมโรงไฟฟ้าหงสา หวังให้เป็นไปตามแผนจัดหาไฟจากต่างประเทศ คาดยูนิต 3 ป้อนไฟเข้าระบบมีนาคม 59 ช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าไทยและค่าไฟจากเชื้อเพลิงถ่านหินต้นทุนต่ำ

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ว่า จากตัวเลขการใช้ไฟฟ้า 10 เดือนแรก ของปี 2558 พบว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.2% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในปี 2559 อยู่ที่ระดับ 28,300-29,000 เมกะวัตต์ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงได้เร่งดำเนินการตามแผน PDP 2015 ที่วางไว้ ซึ่งการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอีกแนวทางที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าได้

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานมีการรับซื้อและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจาก 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย 1. รับซื้อไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทำการลงนามในบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ส่งไฟฟ้ารวมจำนวน 7,000 เมกะวัตต์ ในปี 2558 จ่ายไฟฟ้าแล้ว 2,105 เมกะวัตต์ กำลังก่อสร้าง 3,316 เมกะวัตต์ รวม ณ ปี 2562 จำนวน 5,421 เมกะวัตต์ 2. ลงนาม MOU กับประเทศพม่า ฉบับใหม่ (2558) ไม่ระบุปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า 3. ลงนาม MOU กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2560 4. ประเทศกัมพูชา กับประเทศไทยมีการทำ MOU รับซื้อไฟฟ้าโดยไม่ระบุเวลารับซื้อ และ 5. การแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากมาเลเซีย ด้วยระบบส่งเชื่อมโยง HVDC 300 เมกะวัตต์

“สำหรับโรงไฟฟ้าหงสาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีกำลังการผลิต 1,878 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 3 หน่วยผลิต มีกำลังการผลิตเครื่องละ 626 เมกะวัตต์ โดยหน่วยผลิตที่ 1-2 ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ผ่านสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ส่วนเครื่องที่ 3 จะมีกำหนดการที่จะเริ่มเดินเครื่องในการผลิตไฟฟ้าเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งจากการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าหงสาจะทำให้ประเทศไทยในเขตภาคเหนือมีพลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงตลอดระยะเวลา 25 ปี ด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินที่มีต้นทุนต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในขณะนี้” ผอ.สนพ.กล่าวเพิ่มเติม
กำลังโหลดความคิดเห็น