น่าน - โรงไฟฟ้าหงสาเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าจากหน่วยผลิตที่ 2 เข้าระบบ กฟผ.ของไทย และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้า สปป.ลาว หลังจ่ายไปจากหน่วย 1 ไปเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนหน่วยผลิตที่ 3 กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบได้มีนาฯ59
วันนี้ (2 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) จากหน่วยการผลิตที่ 2 ผ่านสายส่ง 500 กิโลโวลต์ เข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) และผ่านสายส่ง 115 กิโลโวลต์ของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ภายหลังจากเดินเครื่องผลิตหน่วยที่ 1 ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ส่วนหน่วยการผลิตที่ 3 มีกำหนดการจ่ายกระแสไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือนมีนาคม 2559 ที่จะถึงนี้
สำหรับบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใน สปป.ลาว ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว เป็นระยะเวลา 25 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2559 - 2584 เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินจากการทำเหมืองในพื้นที่โครงการเป็นเชื้อเพลิง
ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าจำนวน 3 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยละ 626 เมกะวัตต์ มีกำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณลงทุนในโครงการรวม 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท สำหรับความมั่นคงทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ
มีผู้ถือหุ้น 3 ราย คือ 1) รัฐวิสาหกิจถือหุ้นลาว ซึ่งเป็นนิติบุคคลของรัฐบาลลาว ถือหุ้น 20% 2) บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40 % และ บริษัท บ้านปูพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 40 % ปัจจุบันการก่อสร้างสำเร็จไปแล้วกว่า 98.6%
นอกจากนี้ รัฐบาลแห่ง สปป.ลาวยังมุ่งหวังให้โรงไฟฟ้าหงสาเป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับของชุมชน
ดังนั้น การดำเนินงานของบริษัทฯ นอกจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาวแล้ว ยังมีพันธกิจที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและพัฒนาชุมชนควบคู่กันเรื่อยมา ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2553 และจะดำเนินการต่อเนื่องไปตลอดจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน