บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทพลังงานของคนไทยที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาจนก้าวสู่ปีที่ 31 ในปี 2558 และยังคงยืนหยัดเป็นบริษัทพลังงานที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมหรือพลังงานสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ในปีนี้บางจากจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งการก้าวเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มีกองทุนวายุภักษ์ กองทุนประกันสังคมและคลังถือหุ้น 40% แต่อุดมการณ์ของบางจากที่ยึดมั่นในธุรกิจพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานความร้อนใต้พิภพ” (GeoThermal) จึงนับเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ “บางจาก” มีความสนใจด้วยเหตุผลสำคัญคือเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนหรือ Green Power ซึ่งจากการเดินทางไปศึกษาดูงานของบริษัท Contact Energy จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศนิวซีแลนด์โดยมีการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 24% ของไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2557 รองจากบริษัท Meridian Energy บางจากพบว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าอีกเทคโนโลยีหนึ่งในปัจจุบันและอนาคต
บริษัท Contact Energy มีโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากความร้อนใต้พิภพ 5 แห่งซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเทาโป หรือ Taupo ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของนิวซีแลนด์ที่ประกอบด้วยถ้ำ น้ำพุร้อน และบ่อโคลนเดือดมากมาย
เนื่องจากนิวซีแลนด์จัดเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีความเหมาะสมในการผลิตไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพค่อนข้างสูง และจากการเดินทางไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ 2 แห่งของ Conttact Energy คือ Wairakai Power Station เริ่มดำเนินการปี 2005 มีกำลังการผลิต 132 เมกะวัตต์ และ Te Mihi Power Station มีกำลังการผลิต 166 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการปี 2014
ทั้งนี้ พบว่ากระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยการนำเอาความร้อนใต้พื้นดินมาปั่นกระแสไฟและจะมีการนำน้ำกลับไปใต้ดินและสูบกลับมาใหม่หมุนเวียนไปเรื่อยทำให้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีอายุประมาณ 50-60 ปี อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพที่จะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงนั้นจะต้องมีชั้นหินที่ความร้อนระดับ 200-300 องศาเซลเซียส ประเทศนิวซีแลนด์จึงมีศักยภาพในการผลิตสูงหากเทียบกับไทยที่ความร้อนของชั้นหินใต้ดินเฉลี่ยแค่ 60 องศาเซลเซียสเท่านั้น แต่ล่าสุดเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาที่จะสามารถนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้โดยใช้ความร้อนเฉลี่ย 80-100 องศาฯ
“นิวซีแลนด์ใช้พลังงานไฟฟ้าจากน้ำและความร้อนใต้พิภพเป็น Base Load แต่ของไทยเป็นก๊าซ โอกาสที่ไทยคงจะไม่มีในเรื่องนี้ แต่เราสนใจเทคโนโลยีนี้ที่จะสามารถเกิดและพัฒนาได้ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะเช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในอินโดนีเซียเราอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจพลังงานใต้พื้นพิภพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า 30-40 เมกะวัตต์เพื่อขายในประเทศดังกล่าวด้วย โดยธุรกิจไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพตั้งเป้าหมายลงทุน 50-100 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปีจากที่ปัจจุบันไม่มีเลย อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของธุรกิจนี้ก็มีตรงที่ตอนขุดหลุมเจาะเพื่อหาพลังความร้อนใต้พิภพว่าจะเจอหรือไม่” นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่บางจาก กล่าวย้ำ
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของพลังงานทดแทนที่บางจากพร้อมที่จะขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย และนับเป็นธุรกิจใหม่อีกหนึ่งธุรกิจพลังงานทดแทนสะอาดที่สนใจ หลังจากก่อนหน้านี้บางจากได้รุกธุรกิจไฟฟ้าทั้งแสงอาทิตย์ ชีวภาพ และชีวมวลนำร่องไปแล้ว โดยแผนการลงทุนของบางจากมีเป้าหมายที่จะกระจายความเสี่ยงธุรกิจที่กำหนดไว้ในระยะ 5-6 ปีข้างหน้าที่จะมีรายได้จาก 4 สาขาธุรกิจ คือ 1. โรงกลั่น 2. การตลาด 3. โรงไฟฟ้าสีเขียว และ 4. สำรวจและผลิต
จากกระแสการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บทบาทของบางจากจึงไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งเฉพาะการลงทุนในประเทศต่อไปได้ การลงทุนต่างประเทศจึงเป็นทางรอดและโอกาสที่จะยกระดับให้เป็นบริษัทพลังงานในระดับภูมิภาคและเป็นบริษัทพลังงานเบอร์ 2 ในไทย หลังการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นบทบาทการลงทุนของบางจากนี้ไปจึงน่าติดตามอย่างใกล้ชิด
*อ่านข่าวการลงทุนประกอบได้ที่ http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000064773