xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นรถไฟไทย-จีน อาจตอกเข็มไม่ทัน ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 7 “อาคม” ไม่ยืนยันตอกเข็ม ต.ค. 58 หลังจีนรายงานผลการสำรวจออกแบบเบื้องต้นตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา พบค่าก่อสร้างยังแพง และต้องเวนคืนพื้นที่เพิ่ม ชี้ยังมีขั้นตอน EIA และคัดเลือกรับเหมาอีก

วันนี้ (11 ก.ย.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 7 ร่วมกับ Mr. Wang Xiaotao (นายหวัง เสียวเทา) รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หัวหน้าคณะฝ่ายจีน ที่โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โดยนายอาคมกล่าวว่า ที่ประชุมได้ติดตามรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมการออกแบบและการสำรวจเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาด รางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม. ในตอนที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร (กม.) โดยทางจีนระบุว่ายังเป็นการศึกษาเบื้องต้น และต้นทุนโครงการยังเป็นตัวเลขประมาณการเบื้องต้น โดยทางจีนจะต้องคำนวณตัวเลขให้ชัดเจนอีก ส่วนตอนที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด และตอนที่ 4 นครราชสีมา-หนองคายนั้น คาดว่าจะศึกษาสำรวจออกแบบเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้จะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างตอนที่ 1 และ 3 ได้ในดือนตุลาคมนี้หรือไม่นั้น จะต้องรอดูผลการออกแบบและต้นทุนโครงการในการประชุมครั้งนี้ก่อนว่าทั้งสองฝ่ายจะเห็นชอบร่วมกันหรือไม่ เพราะต้นทุนการก่อสร้างยังสูงอยู่ โดยทางจีนระบุว่าต้นทุนโครงการนั้นคำนวณโดยใช้ฐานราคาค่าก่อสร้างฐานในประเทศไทย เช่น ดัชนีราคา ราคาวัสดุก่อสร้างต่างๆ ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องจัดหาที่ปรึกษาเข้ามาตรวจสอบต้นทุนโครงการในการประเมินราคาที่จีนเสนอมาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ด้วย ส่วนในรูปแบบทางการเงิน การลงทุน นั้นฝ่ายไทยจะมีที่ปรึกษาทางการเงินหารือร่วมกัน โดยหลักโครงการนี้จะร่วมทุนระหว่างไทย-จีน รูปแบบ SPV ขณะที่การก่อสร้างจะเป็นบริษัทผู้รับเหมาของไทยดำเนินการซึ่งจะต้องแยกรายการออกให้ขัดเจน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการจัดหาที่ดินเพิ่มเติม แม้ว่าแนวเส้นทางหลักจะเกาะไปตามเส้นทางรถไฟที่มี แต่จะต้องมีการจัดหาเพิ่มเติมในส่วนที่เป็นอุโมงค์และสะพาน ซึ่งจะต้องทำข้อมูลรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และจะต้องกำหนดจุดเพิ่มเติมและรับฟังความคิดเห็นประชาชนอีกด้วย

“เราพยายามเร่งที่สุด โดยกำหนดว่ารายงานการศึกษาความเหมาะสมต้องเสร็จในวันที่ 31 ส.ค. 58 ทางจีนได้ส่งมาแล้วแต่ขอเป็นรายงานการศึกษาเบื้องต้น ดังนั้นจะต้องหารือในวันนี้ก่อนส่วนจะนำไปสู่การก่อสร้างได้หรือไม่ ก็ยังมีขั้นตอนอีก คือหากสรุปแล้วจะต้องกำหนดวิธีการหาผู้รับเหมา ขั้นตอนในการทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ต้องเผื่อเวลาสำหรับการดำเนินการตามขั้นตอนภายในเหล่านี้ ตอนนี้ขอสรุปรายงานการศึกษา แนวเส้นทาง การออกแบบต่างๆ ว่าจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อน จากนั้นจะเป็นการประเมินราคาที่เหมาะสม และรูปแบบทางการเงิน” นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (12 ก.ย.) จะมีการลงนามในบันทึกร่วมกันเพื่อรับรองการประชุมครั้งที่ 7 อีกด้วย

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยามิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าพอสมควรทั้งการออกแบบเส้นทางเดินรถ และรายละเอียดจุดติดตั้งตัวสถานี โดยในที่ประชุมนอกรอบเมื่อวานนี้ (10 ก.ย.) ฝ่ายไทยได้ตั้งข้อสังเกตุเพิ่มเติมในหลายด้าน โดยเฉพาะราคาการก่อสร้างที่ฝ่ายจีนเสนอมา เมื่อเปรียบเทียบราคาในคุณสมบัติเดียวกันพบว่ามีความแตกต่าง นอกจากนี้ยังมีประเด็นเทคนิคด้านการออกแบบด้วยซึ่งจะหารือรายละเอียดเพิ่มเติมในการประชุมครั้งนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่ายังสามารถเปิดประมูลและเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ตามกำหนดกรอบเวลาที่กำหนดไว้ที่จะเริ่มประมูลได้ในเดือนตุลาคมปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วปานกลาง เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท เบื้องต้นไทยยังคงยืนยันหลักการเดิม ขอให้จีนจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ2 ระยะเวลา 25-30 ปี ปลอดหนี้ 6-7 ปี แต่ติดปัญหาด้านกฎหมายเงินกู้ของสองประเทศที่ไม่สอดคล้องกันทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น