xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ไทย-จีน (ตอน 2) "ประชาคมอาเซียนขึ้นรถไฟขบวนเดียว เกี่ยวร่วมโชคชะตาฯ"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (ภาพจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ)
ASTVผู้จัดการ รายงานตอนที่ 2 ของการสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อเรื่อง “จีน - อาเซียนสร้างประชาคมร่วมกัน ในศตวรรษที่ 21” รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เสนอกรณีศึกษาการเชื่อมโยงโครงข่ายจีน-อาเซียนโดยใช้โครงการรถไฟฯ ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นผลประโยชน์ และความรับผิดชอบร่วมกันในอนาคต

รองศาสตราจารย์ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น กล่าวว่ากรอบใหญ่ของการเชื่อมโยงจีน-อาเซียน เฉพาะกรณีไทยนี้เป็นเพียงภาพเล็กๆ จากภาพใหญ่ ซึ่งงานวิจัยฯ นี้เกิดขึ้นในบริบทตามคำนิยามที่ผู้นำสี จิ้นผิง พูดขึ้นมาว่าเราอาเซียนจะมีประชาคมร่วมกัน โชคชะตาร่วมกัน ซึ่งก็ต้องถามว่าทำไมจีนต้องการร่วมโชคชะตากับอาเซียน ทำไมจีนไม่ไปผูกชะตากับยุโรป ละตินอเมริกา อเมริกาเหนือ ฯลฯ

"อาเซียนมีประชากร 600 กว่าล้านคน มีจีดีพีมากเป็นอันดับ 8 ของโลก อาเซียนตอบโจทย์ความต้องการของจีนได้อย่างดี ทั้งในเรื่องตลาดและการบริโภค รวมไปถึงประเด็นของทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญภายในสิ้นปีนี้ ยังเป็นจังหวะที่อาเซียนกำลังจะก้าวเข้าสู่ความเป็น AEC ในขณะที่บริบทของโลก ภูมิภาคสหรัฐฯ ภูมิภาคยุโรป กำลังมีปัญหา ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ทำให้อาเซียนมีความสำคัญกับจีน"

รศ. ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น เกริ่นนำถึงผลประโยชน์สำคัญของภูมิภาค และชี้ว่า "ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียนไปแล้ว และอาเซียนเองก็เป็นคู่ค้าสำคัญของจีน"

"ผลประโยชน์จีน-อาเซียนไม่ใช่แค่การค้าเท่านั้น ในด้านการลงทุน ก็เช่นกัน แม้จีนจะเป็นผู้มาทีหลังในการลงทุนเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง โดยการลงทุนในอาเซียนของจีนเพิ่งเกิดขึ้นมากๆ ในช่วงปีค.ศ. 2007 แต่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ เวลานี้มูลค่าการลงทุนของจีนกับอาเซียนอยู่ที่ 126,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 ล้านเหรียญ"

รศ. ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น อธิบายเพิ่มเติมในมิติเศรษฐกิจองค์รวมอื่นๆ ว่า การเชื่อมโยงภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคมนาคม กับเศรษฐกิจ แต่มีความหลากหลายตามที่ระบุในกรอบความร่วมมืออาเซียน 2+7 (2 + 7 cooperation framework) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจีนนายหลี่ เค่อเฉียง ได้เคยกล่าวเมื่อครั้งเข้าร่วมการประชุมผู้นำจีน-อาเซียนที่บรูไน วันที่ 9 ตุลาคม 2013 ว่าอนาคต 10 ปี จีน-อาเซียนจะต้องไปด้วยกัน

"การเชื่อมโยงคมนาคมขนส่งนั้น มีความสำคัญเนื่องจากจีนมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศในอาเซียนอยู่ 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว เวียดนาม ในขณะที่คู่ค้าหลักของจีนในแง่ปริมาณการค้า-การลงทุนจะอยู่ที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย การเชื่อมโยงคมนาคมจากจีนมายังคู่ค้าหลักนี้ เป็นเรื่องที่จีนพยายามผลักดันด้วยเห็นว่าจะเกิดประโยชน์"

"นี่คือเหตุผลที่การเชื่อมโยงอาเซียน เป็นหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลจีนพยายามจะผลักดันร่วมกับภูมิภาคฯ" ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กล่าวแสดงความเห็นฯ และคาดการณ์สถานการณ์โครงการรถไฟเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเป็นรูปเป็นร่างนี้ว่า

"ไทย-จีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ไปแล้ว ซึ่งฉบับนี้ไม่ใช่ MOU รถไฟฉบับแรกที่จีนลงนามกับไทย เพราะมีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ รัฐบาลประชาธิปัตย์ก็เช่นกัน แต่เนื่องจากยุบสภาไปเสียก่อน ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ MOU ฉบับล่าสุดนี้ เป็นเรื่องรถไฟความเร็วปานกลาง คือความเร็วสูงสุดแค่ 180 กม./ชม. ไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง"

"โครงการรถไฟนี้เป็นสิ่งที่สอดรับกับความพยายามในภูมิภาคอาเซียน ที่จะเชื่อมโยงกันอยู่แล้ว และโครงการรถไฟที่จะทำในประเทศไทยก็ไม่ใช่เพื่อประเทศไทยเท่านั้น เพราะจีนมองภาพรวมในระดับอาเซียน"

รศ.ดร. อักษรศรี ได้กล่าวยอมรับและสนับสนุนเส้นทางนี้ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับภาคอีสานของไทยในการเชื่อมออกทะเลที่ท่าเรือมาบตาพุดได้ จึงเป็นเส้นทางที่จะนำไปสู่การพัฒนา และยังเพิ่มศักยภาพให้กับภาคอีสาน

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. อักษรศรี ได้กล่าวทิ้งท้ายในการสัมมนายุทธศาสตร์ ซึ่งจัดร่วมกันโดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) มหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies และ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน เมื่อวันที่ 26 ก.ค. ว่า แม้ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นโอกาสการเกิดขึ้นของโครงการฯ นี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่ายๆ เพราะมีหลายเรื่องที่ยังติดขัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของเงินลงทุน ตลอดจนรูปแบบการบริหารจัดการ ที่สำคัญคือ ถ้ามองโครงการนี้ในระดับภูมิภาค จุดสำคัญอยู่ที่ประเทศลาว ซึ่ง ณ ตอนนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนใดๆ ว่าจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟในประเทศลาว ด้วยเหตุที่ยังคุยกันไม่บรรลุฯ ในเรื่องการเงิน

"นอกจากเรื่องเงิน กระบวนการบริหารจัดการรถไฟก็สำคัญ เพราะเป็นรถไฟที่มีการดำเนินงานข้ามพรมแดน ดังนี้ เรื่องต่างๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องฯ จะทำอย่างไร อาทิ นโยบายตรวจคนเข้าเมือง ฯลฯ" รศ.ดร. อักษรศรี กล่าวพร้อมกับคาดหวังถึงการเกิดขึ้น

"แม้จะมีอุปสรรคมาก แต่คาดหวังว่าจะได้เกิดขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ว่าจะยากเย็นอย่างไร ก็คงต้องผลักดันให้สำเร็จ ส่วนจะสำเร็จได้หรือไม่ คงอยู่ที่ความจริงใจในการที่จะร่วมมือกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเป็นผลประโยชน์ และความรับผิดชอบร่วมกัน อาจจะต้องใช้เวลาในการคุยกัน แต่คิดว่าในที่สุดน่าจะบรรลุผลการเจรจาฯ แม้ข้อตกลงทั้งหลายที่จะเกิดขึ้น ณ เวลานี้ ยังเป็นแค่กระดาษบันทึกความเข้าใจฯ หรือ MOU เท่านั้น ยังไม่ใช่ บันทึกความร่วมมือ (MOC) จึงไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายใดๆ"


กำลังโหลดความคิดเห็น