xs
xsm
sm
md
lg

เคาะแล้ว! รื้อสะพานเกษตร 12 ก.ย. ผู้รับเหมาลงพื้นที่ 8 จุดเบี่ยงจราจรแนวพหลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเฟสบุ๊คการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
ตำรวจจราจรอนุมัติแผนจราจร อนุญาตผู้รับเหมาลงพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ปูพรม 8 จุด ตลอดแนวถนนพหลโยธิน เริ่มตั้งแต่ 7 ก.ย.เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรแล้ว โดยจะปิดการจราจรทางขึ้น-ลงสะพานตั้งแต่ 4 ทุ่ม วันที่ 11 ก.ย. ใช้เวลารื้อ 2 เดือน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ดูแลงานจราจร พร้อมด้วย พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (รอง ผบก.จร.) ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในถนนพหลโยธินเพื่อดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ TID ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) และ กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED ซึ่งเป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต)

โดย พล.ต.ต.อดุลย์เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรเพื่อให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทั้งหมดรวม 8 จุด ดังนี้ จุดที่ 1 ซอยพหลโยธิน 35 ถึงหน้ากรมส่งเสริมการเกษตร จุดที่ 2 หน้ากรมทหารราบที่ 11 จุดที่ 3 หน้าซอยพหลโยธิน 57-61 จุดที่ 4 ซอยพหลโยธิน 67-69 จุดที่ 5 หน้าตลาดยิ่งเจริญ จุดที่ 6 หน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ-แยกสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัย(คปอ.) จุดที่ 7 บริเวณแยก คปอ.-ทางโค้งประตูกรุงเทพฯ 8 บริเวณหน้า สภ.คูคต-ปั๊มน้ำมันเชลล์

โดยทาง บช.น.จะมีการกำหนดออกข้อบังคับให้ผู้รับเหมาสามารถลงพื้นที่วางแท่นแบริเออร์ และปิดกั้นผิวการจราจรได้ในวันที่ 8 ก.ย. 2558 นี้ ซึ่งทางผู้รับเหมาแจ้งว่าจะเริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 7 ก.ย. 2558 ทั้งนี้ สำหรับการปิดกั้นผิวการจราจรจะดำเนินการปิดกั้นพื้นผิวจราจรช่องขวาสุดชิดเกาะกลางถนนด้านละ 1 ช่องจราจร ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากบริเวณเกาะกลางถนนดำเนินการเสร็จผู้รับเหมาจะเร่งคืนพื้นผิวการจราจรและจะปิดกั้นผิวจราจรด้านซ้ายสุดชิดขอบทางเท้าด้านละ 1 ช่องจราจรเพื่อดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการ 3 เดือน นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการปิดช่องจราจรจะมีการเปิดช่องทางพิเศษ (รีเวิร์สซิเบิลเลน) บริเวณวงเวียนหลักสี่ บริเวณซอยสายหยุด บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 หน้าตลาดยิ่งเจริญ

สำหรับสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์นั้น จะอนุญาตให้ผู้รับเหมารื้อได้ในวันที่ 12 ก.ย. 2558 ซึ่งทางผู้รับเหมาจะเริ่มปิดการจราจรบริเวณทางขึ้น-ลงสะพานในเวลา 22.00 น.ของวันที่ 11 ก.ย. 2558 เนื่องจากที่ผ่านมามีการพิจารณาสภาพการจราจรโดยรอบแล้วพบว่า ในช่วงปิดเทอมและช่วงเปิดเทอมบริเวณดังกล่าวจะมีปัญหาการจราจรติดขัดในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งผู้รับเหมาจะใช้เวลาในการรื้อสะพาน 2 เดือน จากนั้นจะมีการลงเสาตอม่อรถไฟฟ้าและก่อสร้างสะพานทดแทนสะพานข้ามแยกเกษตร ระยะทาง 300 เมตร

ด้าน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รอง ผบก.จร. กล่าวว่า ทาง บช.น.ได้กำชับให้ผู้รับเหมาดำเนินการปิดป้ายประชาสัมพันธ์การก่อสร้างโครงการตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับเหมาก็ได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงจะต้องดำเนินการทำป้ายประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ในส่วนของเส้นทางเลี่ยง บก.จร. แนะนำให้ประชาชนใช้ถนนวิภาวดีรังสิต และใช้ถนนเกษตรนวมินทร์ออกแยกลาดปลาเค้าเพื่อออกถนนรามอินทราทดแทน เพื่อเป็นการแบ่งเบาปัญหาการจราจร

สำหรับบริเวณแยกเกษตรที่จะมีการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรนั้นผู้รับเหมาจะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรใหม่ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเกิดปัญหาบ้าง แต่ทาง บก.จร. และ สน.พื้นที่จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไปประจำจุดเพื่อคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการก่อสร้างตนอยากให้ประชาชนที่ใช้ถนนพหลโยธินอดทนกับสภาพปัญหารถติดไปสักระยะ เพราะตนเชื่อว่าหากรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จการจราจรบนถนนพหลโยธินก็จะเบาบางลงอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น