xs
xsm
sm
md
lg

รื้อแน่นอน! สะพานข้ามแยกเกษตร 12 ก.ย. นี้ สร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว “หมอชิต-คูคต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กองบัญชาการตำรวจนครบาล อนุญาตให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และผู้รับเหมารื้อย้ายสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ 12 ก.ย. นี้ ก่อสร้างตอม่อรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต - คูคต 30 เดือน พร้อมให้รื้อย้ายสาธารณูปโภค 7 จุด ตามแนวถนนพหลโยธิน และ สภ.คูคต แนะเลี่ยงเส้นทางไปใช้ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนเกษตร - นวมินทร์ และถนนลาดพร้าว - วังหิน

วันนี้ (2 ก.ย.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) เป็นประธานในการหารือกันระหว่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 1 และกิจการร่วมค้า UN-SH-CH ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา สัญญาที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต

หลังการหารือ ในที่ประชุมมีข้อสรุปว่า ให้ผู้รับเหมาติดตั้งแผงป้องกัน (แบริเออร์) ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภค ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันอังคารที่ 8 ก.ย. ทั้งหมด 7 จุด ได้แก่ บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 (สถานีกรมทหารราบที่ 11), บริเวณปากซอยพหลโยธิน 57 - 61 (สถานีอนุสาวรีย์หลักสี่), บริเวณปากซอยพหลโยธิน 67 - 69 (สถานีสายหยุด), บริเวณหน้าตลาดยิ่งเจริญ (สถานีสะพานใหม่), บริเวณหน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ - แยก คปอ., บริเวณแยก คปอ.- โค้งประตูกรุงเทพ และบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธรคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี

ส่วนการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ ถนนพหลโยธิน จะทำการปิดสะพานเพื่อรื้อโครงสร้างตั้งแต่วันเสาร์ที่ 12 ก.ย. เป็นต้นไป โดยใช้ระยะเวลา 60 วัน ส่งผลให้เหลือเฉพาะพื้นที่ถนนแนวราบเพียง 2 ช่องจราจรขาออกเมือง และ 2 ช่องจราจรขาเข้าเมืองเท่านั้น ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างเสาตอม่อเป็นระยะเวลา 30 เดือน ซึ่งระบบการจราจรบริเวณสี่แยกเกษตรศาสตร์ จะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรใหม่ให้สอดคล้องกับสภาพการจราจร โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อระบายรถในช่วงขาออกให้ได้มากที่สุด และจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง ไปใช้ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประเสริฐมนูญกิจ (เกษตร - นวมินทร์) และถนนลาดพร้าว - วังหิน

ส่วนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน ถนนรัชดาภิเษก อยู่ระหว่างการตัดสินใจของ รฟม. โดยมีอยู่ 2 แนวทาง คือ การสร้างสะพานข้ามแยกตามแนวรถไฟฟ้า (ถนนพหลโยธิน) เหนือสะพานเดิม หรือการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินออก เพื่อสร้างอุโมงค์ใต้สะพานเดิม ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปี โดยเส้นทางจราจรตลอดแนวก่อสร้างทั้งหมดผู้รับเหมา และ รฟม. ได้จัดเตรียมป้ายบอกทางไว้ทั้งหมดแล้ว ส่วนทางด้านกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ได้มีการเตรียมเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกไว้ตามจุดที่มีการปิดการจราจร
กำลังโหลดความคิดเห็น