xs
xsm
sm
md
lg

มก.วอนเลื่อนรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร เลี่ยงรถติดช่วงรับปริญญาต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ศรปราชญ์ ธไนศวรรยางค์กูร รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ม.เกษตรฯ กล่าวว่า มก.เป็นทำเลทองที่หลายฝ่ายต้องการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เตรียมก่อสร้างทางด่วนงามวงศ์วาน แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2557 ยุติโครงการ และให้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแทน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงพยายามใช้ตอม่อเกษตรนวมินทร์เดินหน้าโครงการเดิมต่อ ทำให้ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการชะลออยู่

นอกจากนี้ยังมีโครงการขยายทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ โดยสร้างทางขึ้นประตูวิภาวดี รวมทั้งจัดสร้างด่านเก็บเงินเชื่อมต่อโรงพยาบาลวิภาวดี เพราะฉะนั้นการจราจร ถ.วิภาวดีรังสิต จึงเป็นเงื่อนไขทำให้ระบบการจราจรภายใน ม.เกษตรฯ ได้รับผลกระทบอีกทางหนึ่ง ยังไม่นับรวมผลกระทบที่อาจเกิดจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่กำลังจะดำเนินงาน ซึ่งโครงการหลังได้ประชุมหารือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล แผนงานจราจร ในฐานะอยู่ในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้ว

ทั้งนี้อีกประการที่สำคัญ คือ วันที่ 26-30 ตุลาคม 2558 จะมีพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิต ม.เกษตรฯ ก่อนหน้านั้นก็จะมีพิธีซ้อมย่อย และซ้อมใหญ่ ดังนั้น การรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรอาจกระทบต่อการจราจร เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะสร้างกระบวนการทำงานจัดให้มีการจราจรและบริเวณโดยรอบคลี่คลายจากปัญหาต่าง ๆ ได้ รวมถึงความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง แม้จะเชื่อมั่นทางเทคนิค แต่ก็ย่อมเกิดอุบัติเหตุเช่นกัน เหมือนกรณีก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และเสนอให้ควรสร้างมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นิสิตหญิง กรณีมีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานก่อสร้างด้วย

ด้านนายจิรวัฒน์ มาลัย ผู้อำนวยการโครงการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า การรื้อสะพานข้ามแยกเกษตร จนอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาคม ม.เกษตรฯ นั้น จากการประชุมก่อนหน้านี้ได้อนุญาตให้ปิดการจราจรทุกช่องทาง ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2558 เวลา 22.00 น.เป็นต้นไป เพื่อทำการรื้อย้ายเป็นเวลา 60 วัน คาดจะแล้วเสร็จราวกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และสร้างสะพานข้ามแยกคู่ขนานกันไป จำนวน 3 สะพานย่อยแทน

ทั้งนี้ ยืนยันจะไม่มีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ก่อสร้างในเวลากลางวัน พร้อมเปิดฝั่งละ 2 ช่องจราจร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนกลางคืนตั้งแต่เวลา 22.00 – 05.00 น. ของวันถัดไป จะเหลือเพียงฝั่งละ 1 ช่องจราจร หากมีการนำเครื่องจักรขนาดใหญ่ทำการ โดยต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และขอให้ประชาชนพักอาศัยใกล้เคียงเลิกกังวลจะเกิดเสียงดังในเวลากลางคืน เพราะเราจะหลีกเลี่ยง

ด้านพล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.) ดูแลงานจราจร เปิดเผยว่า ได้อนุมัติออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร ในถนนพหลโยธิน เพื่อให้ผู้รับเหมาเริ่มก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคตได้ทั้งหมด 8 จุดดังนี้

จุดที่ 1 หน้ากรมส่งเสริมการเกษตร
จุดที่ 2 หน้ากรมทหารราบที่11
จุดที่ 3 หน้าซอยพหลโยธิน 57-61
จุดที่ 4 ซอยพหลโยธิน 67-69
จุดที่ 5 หน้าตลาดยิ่งเจริญ
จุดที่ 6 หน้าโรงเรียนนายเรืออากาศ-แยกสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัย(คปอ.)
จุดที่ 7 บริเวณแยกคปอ.-ทางโค้งประตูกรุงเทพฯ และ
จุดที่ 8 บริเวณหน้าสภ.คูคต-ปั้มน้ำมันเซลล์

โดยทาง บช.น.อนุญาตให้ผู้รับเหมาลงพื้นที่ วางแท่นแบริเออร์ และปิดกั้นผิวการจราจรได้ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ซึ่งทางผู้รับแจ้งว่า จะเริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการในเวลา 22.00 น.ของวันที่ 7 ก.ย. สำหรับการปิดกั้นผิวการจราจร จะดำเนินการปิดกั้นพื้นผิวจราจรช่องขวาสุด ชิดเกาะกลางถนนด้านละ 1 ช่องจราจร ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากบริเวณเกาะกลางถนนดำเนินการเสร็จ ผู้รับเหมาจะเร่งคืนพื้นผิวการจราจร และจะปิดกั้นผิวจราจรด้านซ้ายสุด ชิดขอบทางเท้าด้านละ 1 ช่องจราจร เพื่อดำเนินการรื้อย้ายระบบสาธาณูปโภค โดยจะใช้เวลาในการดำเนินการ 3 เดือน

นอกจากนี้ในช่วงที่มีการปิดช่องจราจร จะมีการเปิดช่องทางพิเศษ หรือรีเวิร์สซิเบิลเลน บริเวณวงเวียนหลักสี่ บริเวณซอยสายหยุด บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11 หน้าตลาดยิ่งเจริญ

สำหรับสะพานข้ามแยกเกษตรศาสตร์ จะอนุญาตให้ผู้รับเหมารื้อได้ ในวันที่ 12 ก.ย. ซึ่งทางผู้รับเหมาจะเริ่มปิดการจราจร บริเวณทางขึ้น-ลงสะพาน ในเวลา 22.00 น.ของวันที่ 11 ก.ย. เนื่องจากที่ผ่านมามีการพิจารณาสภาพการจราจรโดยรอบแล้ว พบว่าในช่วงปิดเทอม และช่วงเปิดเทอมบริเวณดังกล่าวจะมีปัญหาการจราจรติดขัดในปริมาณที่เท่ากัน ทั้งนี้ผู้รับเหมาจะใช้เวลาในการรื้อสะพาน 2 เดือน จากนั้นจะมีการลงเสาตอม่อรถไฟฟ้า และก่อสร้างสะพานทดแทนสะพานข้ามแยกเกษตรระยะทาง 300 เมตร ใช้เวลาอีกเกือบ 3 ปี

ด้าน พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผบก.จร. กล่าวว่า ทาง บช.น.ได้กำชับให้ทางผู้รับเหมา ดำเนินการปิดป้ายประชาสัมพันธ์การก่อสร้างโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาผู้รับเหมาก็ได้มีการดำเนินการไปแล้วบางส่วน ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ก็จะต้องดำเนินการทำป้ายประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม ในส่วนของเส้นทางเลี่ยง บก.จร.แนะนำให้ประชาชนใช้ถนนวิภาวดีรังสิต และใช้ถนนเกษตรนวมินทร์ ออกแยกลาดปลาเค้า เพื่อออกถนนรามอินทราทดแทน เพื่อเป็นการแบ่งเบาปัญหาการจราจร สำหรับบริเวณแยกเกษตรที่จะมีการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรนั้น ผู้รับเหมาจะมีการปรับสัญญาณไฟจราจรใหม่ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะเกิดปัญหาบ้าง แต่ทาง บก.จร.และ สน.พื้นที่ จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไปประจำจุด เพื่อคอยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการก่อสร้าง ตนอยากให้ประชาชนที่ใช้ถนนพหลโยธินอดทนกับสภาพปัญหารถติดไปสักระยะ เพราะตนเชื่อว่าหากรถไฟฟ้าก่อสร้างเสร็จ การจราจรถนนพหลโยธินก็จะเบาบางลงอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น