บุคลิกที่ดูเย่อหยิ่ง ไม่ยอมอ่อนให้ใคร บวกกับหน้าตาที่ดูไม่เป็นมิตรของผู้ชายที่ชื่อว่า “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” เจ้าของอาณาจักรตลาดนัดรถไฟแหล่งซื้อหาสินค้ายามค่ำคืน ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้ค้าของเก่าที่ตลาดนัดรถไฟจตุจักร ก่อนจะถูกขอพื้นที่คืนเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า
แต่วันนี้ชื่อของตลาดนัดรถไฟก็ยังคงอยู่คู่กับการบริหารงานของ “ไพโรจน์” ที่บอกว่า เขาได้สร้างชื่อตลาดนัดรถไฟ และก็ได้อาศัยชื่อเสียงที่โด่งดัง ของตลาดนัดรถไฟ สวนจตุจักร มาสร้างอาณาจักรของตลาดนัดแห่งใหม่บนถนนศรีนครินทร์ หลังห้างซีคอนสแควร์ และสาขาที่ 2 บนถนนรัชดาภิเษก หลังเอสพลานาด ซีนีแพล็กซ์
ก่อนอื่น ต้องมาเท้าความกันก่อนว่า ตลาดนัดรถไฟในช่วงเริ่มต้นนั้นเติบโตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว สร้างความฮือฮาให้แก่นักเที่ยว และขาชอปยามค่ำคืนที่หลงเสน่ห์ของเก่า บวกการเลือกอุปกรณ์จัดสถานที่ได้อย่างลงตัว และไปด้วยกันได้กับความตั้งใจของเจ้าของตลาดที่ต้องการทำให้ตลาดนัดรถไฟ เป็นตลาดนัดวินเทจสไตล์ เล่นเอาบรรดาคนที่มีชื่อเสียง ดารา นักแสดง และคนหลงใหล หรือชื่นชอบการกิน ดื่ม เที่ยวยามค่ำคื่น ต่างพาเหรดกันมาเดินตลาดนัดแห่งนี้ สร้างชื่อให้ตลาดนัดวินเทจสไตล์ยามค่ำคืนแจ้งเกิดได้ในเวลาอันรวดเร็ว
การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ที่ทำให้ตลาดนัดรถไฟต้องระเห็จออกไปจากอาณาจักรสวนจตุจักร ทำเลที่ดีที่สุดของคนที่ต้องการทำตลาดนัด เพราะการขอคืนพื้นที่ของการรถไฟฯ และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ “ไพโรจน์” ต้องหาพื้นที่ใหม่ แต่ด้วยความที่ตัวเองเกิดมาจากพ่อค้าขายของเก่า ความตั้งใจในการเปิดตลาดนัดวินเทจสไตล์ก็ยังคงอยู่ในแพลนของหนุ่มคนนี้ โดยได้รวบรวมเงินหลักหลายล้านบาท ซึ่งเขาบอกว่า ได้ใช้เงินถึงหลักร้อยล้านบาทเพื่อสร้างอาณาจักรตลาดนัดรถไฟบนถนนศรีนครินทร์ ซึ่งเบื้องหลังของเงินก้อนโตที่ลงทุนไปกับตลาดนัดรถไฟที่ศรีนครินทร์แห่งนี้มาจากเงินที่กอบโกยรายได้มาจากการเปิดตลาดนัดรถไฟที่สวนจตุจักร (ครั้งนี้คงไม่ต้องบอกว่าเจ้าของตลาดรถไฟคนนี้มีรายได้เท่าไร จากการบริหารตลาดนัดรถไฟในแต่ละแห่ง)
อย่างไรก็ตาม ก้าวครั้งสำคัญการทุ่มทุนกว่าร้อยล้านครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เจ้าของตลาดนัดรถไฟผิดหวัง เพราะตลาดนัดรถไฟสาขาศรีนครินทร์นั้นมีคนที่เดินทางมาชอปปิ้งต่อวันหลายพันคน มีล็อกให้เช่าแบบรายวันไม่ต่ำกว่า 1,600 ล็อก ยังไม่รวมห้องเช่าที่เปิดให้เช่าอีกหลักร้อยห้อง ถ้าถามถึงความสำเร็จของตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์
ไพโรจน์เสริมว่า เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก และเงินลงทุนไปเป็น 100 ล้านบาทก็คืนทุนได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
แต่ถ้าถามว่าคอนเซ็ปต์แบบวินเทจสไตล์ยังคงอยู่คู่กับตลาดนัดรถไฟหรือไม่ “ไพโรจน์” ยังคงยืนยันว่าตลาดนัดรถไฟ ยังคงเป็นวินเทจสไตล์ พร้อมกับชี้แจงว่า ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ หรือตลาดนัดรถไฟรัชดาฯ นั้นมีสินค้าวินเทจ หรือของเก่า 40% และของจริงจะ เป็นอย่างที่เจ้าของตลาดชี้แจงหรือเปล่า .... คอของเก่าคงต้องพิจารณากันเอาเอง
“ปัจจุบัน ตลาดนัดรถไฟมี 2 สาขา คือ ที่ศรีนครินทร์ และที่ถนนรัชดาฯ และเตรียมจะเปิดอีก 1 แห่งที่ถนนเกษตรนวมินทร์ โดยผมตั้งใจว่าจะเปิดทั้งหมด 5 แห่งในกรุงเทพฯ ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ในระหว่างการเลือกสถานที่ โดยยังคงคอนเซ็ปต์ของวินเทจสไตล์ ซึ่งวินเทจสไตล์ ของผมคือ เลือกอุปกรณ์จัดสถานที่ เพราะตลาดนัดรถไฟส่วนหนึ่งที่ได้รับการตอบรับจากคนที่มาเดินชอปปิ้งจำนวนมากมาจากการจัดสถานที่ให้น่าเดิน เพราะถ้ามองตลาดนัดกลางคืนที่มีสไตล์มีอยู่ไม่กี่แห่ง นอกจากเรา ก็จะมีที่เอเชียทีค ที่อื่นๆ ก็ยังไม่เห็นที่ไหนที่จัดสถานที่มีสไตล์หรือกล้าลงทุนเรื่องอุปกรณ์การจัดสถานที่ได้เหมือนกับของเรา” คำบอกเล่าโดย เจ้าของตลาด
ถ้าถามว่าเทคนิคการบริหารตลาดนัดให้ประสบความสำเร็จ หนุ่มร่างใหญ่ บอกว่า ทุกอย่างเกิดจากสัญชาตญาณที่ตนเองก็เคยเป็นคนเช่า หรือเป็นพ่อค้าขายของเก่า พ่อค้าปูผ้าขายของมาก่อน ก็จะรู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าที่มาเช่าสถานที่ต้องการอะไร วันนี้พ่อค้าแม่ค้าก็จะเลือกที่จะเช่าขายของที่ตลาดนัดรถไฟ ไม่ว่า จะไปเปิดที่ไหน แม้ว่าจะเก็บค่าเช่าสูงกว่าที่อื่นๆ คนก็ยังเลือกที่จะมาขายของกับเรา เพราะเขาขายกับเราแล้วเขาขายได้ เราดูแลพ่อค้าแม่ค้าเช่าร้านกับเราเป็นอย่างดี
และเมื่อถามว่า เมื่อคุณเกิดมาจากการขายของเก่า ทำไมวันนี้ถึงไม่ทำตลาดขายของเก่า เจ้าของตลาดชี้แจงว่า ช่วงนี้ มันคงไม่ใช่ยุคตลาดขายของเก่า เพราะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย คนที่เลือกซื้อของก็ต้องเลือกสินค้าที่จำเป็นก่อน ซึ่งของเก่าไม่ได้จำเป็นก็ตัดทิ้งก่อน ดังนั้น การที่จะเปิดตลาดนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขายของเก่าอย่างเดียวอยู่รอดยาก ไม่เชื่อลองดูจากตลาดของเก่าหลายแห่งที่เปิดขายของเก่าอย่างเดียว คนเดินไม่เยอะ เท่ากับตลาดของเรา
สำหรับรายได้ของตลาดนัดรถไฟที่ศรีนครินทร์ ทั้งหมด 1,600 ล็อก ล็อกละ 200 บาทต่อวัน และค่าเช่าจากห้องอีกกว่า 100 ห้อง ห้องละ 8,000 บาทต่อเดือน ส่วนรายได้จากค่าเช่าที่รัชดาฯ บนพื้นที่ 12-13 ไร่ มีล็อกให้เช่า 1,200 ล็อก ล็อกละ 350 บาทต่อวัน ค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณ 20-30 ห้อง ห้องละ 8,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคนเช่าจะเต็มวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ส่วนค่าใช้จ่ายจะมีค่าเช่าพื้นที่จากเจ้าของที่ ซึ่งทำสัญญากัน 12 ปี ค่าเช่าเพิ่มขึ้นเป็นรายปีตามสัญญาที่ตกลงกัน
ไพโรจน์บอกว่า การทำตลาดนัดไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นจะต้องมีสไตล์ และรูปแบบที่ชัดเจน ที่สำคัญการเลือกทำเลที่ดีมีส่วนสำคัญ ถ้ามีเงินไม่ถึง โอกาสที่จะทำตลาดนัดในทำเลดีๆ ในกรุงเทพฯ ทำได้ยาก โดยเฉพาะตลาดนัดกลางคืน เพราะการทำตลาดนัดกลางคืนไม่ได้แค่มีสินค้ามาจำหน่าย เรายังให้ความสำคัญต่อการจัดสถานที่ แสง สี เสียง และพร็อพในการจัดสถานที่
"ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปทางต่างประเทศ ทำให้เราได้เห็นถึงแนวทางในการนำปรับปรุง และจัดตลาดของเราให้น่าเดินซึ่งที่ผ่านมา มีคนที่พยายามลอกเลียนแบบเรา การจัดพร็อพให้เหมือนกับเรา แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าใครกล้าลงทุน และสามารถทำตลาดได้น่าเดินเหมือนกับเรา ส่วนการเลือกสินค้าเป็นหัวใจสำคัญ ไม่ใช่ว่าคุณมีสินค้าและจะมาขายได้ สินค้า และการจัดร้านของคุณต้องไปด้วยกันได้รูปแบบสไตล์ของตลาดเรา การทำตลาดในยุคนี้สินค้าต้องมีความหลากหลาย แฟชั่น เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน อาหาร และเครื่องดื่ม  เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มคนเดินที่มาเป็นครอบครัว ที่ต่างวัย และต่างความชอบกัน" เขา กล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดนัดกลางคืนกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของคนไทย ทั้งคนทำตลาด และคนที่มาเดินตลาด โดยเฉพาะวัยรุ่น และคนทำงาน เพราะจุดขายของตลาดนัดยามค่ำคืน แสง สี เสียง บวกกับร้านเหล้า และเครื่องดื่มนั่งชิลๆ พบปะสังสรรค์กลุ่มเพื่อน หรือ ขาชอปที่ต้องการซื้อสินค้าก็เดินชอปกันได้อย่างเต็มที่ การแข่งขันไม่ได้รุนแรงมากนัก เพราะการบริหารตลาดให้ประสบความสำเร็จไม่ได้อยู่แค่ เรามีพร็อพ การจัดสถานที่ให้น่าเดินตามเทรนด์แล้ว ทำเลเป็นหัวใจสำคัญ การบริหารตลาดในทำเลดีต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่ถ้าคุณทำได้แน่นอน รายได้จำนวนมากเป็นของคุณ ในแบบของเจ้าของตลาดนัดรถไฟคนนี้
โทร. 09-2713-5599
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *