xs
xsm
sm
md
lg

จ่อล้มด่วน 3 สายเหนือผุดโมโนเรลแทน ม.เกษตรฯ ค้านไม่เลิกขออีก 1 เดือนแจงผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเตอร์เน็ต
“คมนาคม” ให้เวลา ม.เกษตรฯ ศึกษาผลกระทบอีก 1 เดือนก่อนหาข้อยุติปัญหาทางด่วน 3 สายเหนือ แนวโน้มพับโครงการดันแผนสร้างรถไฟฟ้าสีน้ำตาลเป็นโมโนเรลแทน ด้าน สนข.ชงผลศึกษาผุดโมโนเรลใช้ประโยชน์ตอม่อ 281 ต้นได้คุ้มค่าและใช้เงินลงทุนต่ำกว่า

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ที่มีผลกระทบต่อ ม.เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ว่า ได้ประชุมร่วมกับผู้แทน ม.เกษตรฯ เพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน ซึ่งทาง ม.เกษตรฯ แจ้งว่าอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอเวลาศึกษาอีก 1 เดือนจากนั้นจะสรุปข้อมูล ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำข้อมูลมาประมวลก่อนสรุปเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ที่ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องศึกษาทางเลือกที่เหมาะสม

รายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า เมื่อต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาผู้แทน ม.เกษตรฯ ได้เข้าพบ รมว.คมนาคมเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N1 ทาง รมว.คมนาคมจึงให้ ม.เกษตรฯ ไปศึกษาข้อมูลและแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งทาง ม.เกษตรฯ แจ้งว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ของ ม.เกษตรฯ ยังศึกษาไม่เสร็จโดยขอเวลาอีก 1 เดือน จากนั้นให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ประมวลข้อมูลอีกครั้ง ดังนั้นในขณะนี้ต้องยุติโครงการไว้ก่อนจนกว่าจะได้ข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สมัยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น รมว.คมนาคม ได้มีมติให้ยกเลิกโครงการตอน N1 และให้ สนข. ศึกษาวิเคราะห์ว่า ตอน N2, N3 ควรจะดำเนินการอย่างไร มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งมี 3 ทางเลือก คือ 1. ก่อสร้าง N2, N3 2. ยกเลิก N2, N3 และก่อสร้างเป็นรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-มีนบุรี (ระบบโมโนเรล) แทน หรือ 3. ก่อสร้างทั้งทางด่วน N2, N3 และรถไฟฟ้า โดยผลวิเคราะห์พบว่า หากก่อสร้างเฉพาะตอน N2, N3 จะทำให้โครงข่ายทางด่วนที่จะเชื่อมแนวตะวันออก-ตะวันตก ไม่สมบูรณ์และเพิ่มปัญหาจราจรที่บริเวณอุโมงค์แยกเกษตร ในขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เสนอผลศึกษาว่า การลงทุนก่อสร้าง ตอน N2, N3 มีความคุ้มทุน เนื่องจากเป็นการใช้ฐานรากจำนวน 281 ฐาน ในแนวถนนเกษตรนวมินทร์ และ 4 ฐานบริเวณทางแยกต่างระดับทางด่วนฉลองรัฐ ที่ลงทุนไปแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมมากที่สุด คือยกเลิกโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือทั้งหมด และปรับเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสีน้ำตาลแทน โดย สนข.ได้รายงานผลการศึกษามาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว พร้อมยืนยันการศึกษาว่าสามารถใช้ประโยชน์ฐานรากโดยใช้เป็นโครงสร้างของรถไฟฟ้าแทน แต่จะต้องกำหนดโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเพิ่มเติมเข้าไปในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะ 10 ปี ซึ่งจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะก่อสร้างได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ที่จะเปิดให้บริการก่อน เนื่องจากจะไม่แย่งผู้โดยสารกัน และรถไฟฟ้าโมโนเรลลงทุนต่ำกว่าทางด่วน อีกทั้งมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น