ปตท.ยันไม่ได้รับผลกระทบหลัง กพช.ยกเลิกระเบียบให้หน่วยงานรัฐต้องซื้อน้ำมันจาก ปตท. ชี้เป็นการปลดล็อกให้ ปตท. จากที่ต้องขายในราคาถูก และค้างจ่ายนาน ยังช่วยให้พ้นข้อครหาผูกขาดด้วย ส่วนการสร้างคลังแอลเอ็นจีที่พม่าตัดสินใจเลือกลงทุนที่ทวาย คาดได้รับใบอนุญาตสะดวกกว่า
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยกเลิกสิทธิพิเศษของ ปตท.ในการขายน้ำมันมากกว่า 1 หมื่นลิตรขึ้นไปให้แก่หน่วยงานรัฐ ว่า เรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท. ที่ผ่านมา ปตท.เป็นผู้เสนอกระทรวงพลังงานเองเพื่อต้องการลดข้อวิพากษ์วิจารณ์การผูกขาดของ ปตท.ในเรื่องการขายน้ำมันให้หน่วยงานรัฐ
ทั้งนี้ ปตท.ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีการขายหุ้นบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ถือหุ้นอยู่ 27.22% และจะขายหุ้นบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ถือทั้งหมดออกไปตามแผนการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปีนี้ รวมทั้งแยกบัญชีระบบท่อก๊าซและเปิดให้รายอื่นเข้าใช้ท่อก๊าซฯ (Third Party Access) ได้ตามข้อกำหนดภาครัฐ
“การยกเลิกให้หน่วยงานรัฐมาซื้อน้ำมันจาก ปตท.นั้นถือเป็นการปลดล็อก เป็นเรื่องดีต่อบริษัทฯ ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐขอซื้อในราคาถูก ค้างจ่ายนาน และยังต้องสร้างถังเก็บให้ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทาง ปตท.ไม่ได้เป็นผู้เสนอนโยบายมา แต่เกิดจากสมัย ป.ป.ป. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) ก่อนที่จะมาเป็นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องการแก้ปัญหาการทุจริตของหน่วยงานรัฐในการจัดซื้อน้ำมัน จึงเสนอให้หน่วยงานรัฐซื้อจาก ปตท.เท่านั้น”
นายไพรินทร์กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ในรูปแบบลอยน้ำ (FSRU) ความจุ 3 ล้านตัน/ปี ที่ประเทศพม่าว่า จากการศึกษาเบื้องต้นจะลงทุนในพื้นที่นิคมฯ ทวาย เนื่องจากการขอใบอนุญาตทำได้สะดวกกว่าการสร้างคลังที่ KANBUAK โดยก๊าซส่วนใหญ่จะป้อนมายังไทยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนกรณีที่เชลล์สนใจจะเข้ามาร่วมทำคลังด้วยนั้นยังไม่มีข้อสรุป แต่ ปตท.พร้อมเจรจาร่วมทุน ซึ่งปริมาณก๊าซแอลเอ็นจีที่เชลล์ต้องการใช้ผลิตไฟฟ้ามีปริมาณไม่มากนัก
สำหรับความคืบหน้าในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางพลาสติกชีวภาพนั้น ไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบ โดยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งแนวโน้มการใช้พลาสติกชีวภาพจะเพิ่มสูงขึ้น โดยล่าสุดทางอีเกีย ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ประกาศว่าในปี 2563 พลาสติกที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ครึ่งหนึ่งต้องเป็นพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ทำให้คาดว่าจะมีอีกหลายบริษัทในยุโรปประกาศใช้พลาสติกชีวภาพเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ ปตท.ได้มีการร่วมทุนกับบริษัทมิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น ตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polybutelene Succinate (PBS) ขนาดกำลังการผลิต 2 หมื่นตัน/ปี ในนิคมฯ เอเชีย จ.ระยอง ขณะนี้โรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดลองเครื่องจักร คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมกับเตรียมลงทุนผลิต Bio-Succinic Acid (BSA) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นผลิต PBS โดยใช้วัตถุดิบ คือน้ำตาลภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีมี 2 ราย คาดว่าจะตัดสินใจได้เร็วๆ นี้
กรณีที่กลุ่มเนเชอร์เวิร์คสไม่ตัดสินใจลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PLA ในไทยนั้น นายไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า ด้วยศักยภาพของ ปตท.สามารถที่จะลงทุนตั้งโรงงานผลิต PLA ได้เอง เนื่องจากการพัฒนา PLA อยู่ในช่วงเริ่มต้น ด้วยพื้นฐานการวิจัย ปตท.สามารถพัฒนาลงทุนได้ เพียงแต่อยากมีพาร์ตเนอร์เพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุนและคืนทุนได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัว ศ.ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย สังกัดวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้รับ “PTT-NSTDA Chair Professor” ประจำปี 2558 ในโครงการวิจัยเรื่อง “พอลิเมอร์สีเขียวที่ยั่งยืน บนความท้าทายของประเทศไทยที่อุดมด้วยทรัพยากรหมุนเวียน” เป็นเงินทุน 20 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี โดยงานวิจัยนี้จะเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและการบริการได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะมีส่วนขับเคลื่อนศักยภาพการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยในอนาคต