xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา $1,500 ล้าน เฟสแรกก่อนเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่พม่าและญี่ปุ่นร่วมตัดริบบิ้นในพิธีเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ที่เมืองตันลยิน ชานนครย่างกุ้ง วันที่ 23 ก.ย.--Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>

รอยเตอร์ - รองประธานาธิบดีพม่า เปิดนิคมอุตสาหกรรมการผลิตมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในวันนี้ (23) ที่มีเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุน และสร้างงานจำนวนมาก และยังเป็นการแสดงผลงานการทำงานของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจก่อนการเลือกตั้งเดือน พ.ย.นี้

รองประธานาธิบดียาน ตุน พันธมิตรใกล้ชิดประธานาธิบดีเต็งเส่ง เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา (Thilawa) เฟสแรก ในพิธีที่จัดขึ้นในโครงการ ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากนครย่างกุ้งประมาณ 1 ชั่วโมง

เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะเป็นที่ตั้งของโรงงานราว 100 แห่ง ที่สามารถจ้างงานคนงานได้มากกว่า 40,000 คน

โครงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น และบริษัทการค้าของญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วย บริษัทมิตซูบิชิ บริษัทมารุเบนิ และบริษัทซูมิโตโม รวมทั้งหน่วยงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น

รองประธานาธิบดียาน ตุน กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ของพม่ากับญี่ปุ่น

การเปิดโครงการจะยังช่วยส่งเสริมพรรคสหสามัคคีและการพัฒนาของเต็งเส่ง ในความพยายามรณรงค์หาเสียงของพรรคก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของทหาร ในวันที่ 8 พ.ย.นี้

พรรคที่กองทัพให้การสนับสนุนมุ่งประเด็นการรณรงค์หาเสียงไปที่การแสดงผลงานการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการปฏิรูปภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือนที่นำการปฏิรูปตั้งแต่ปี 2554

“ขอขอบคุณความเป็นผู้นำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง พม่าได้ปฏิรูปในแง่ของประชาธิปไตย ความปรองดองแห่งชาติ และการปฏิรูปเศรษฐกิจที่ละขั้น” ทาโร อาโซะ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการคลังญี่ปุ่น กล่าวในพิธีเปิดโครงการ

พม่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และญี่ปุ่นได้มองเห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับพม่านับตั้งแต่ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่เพื่อตอบรับการปฏิรูปของพม่า

จากพื้นที่รวมของเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 15,000 ไร่ รัฐบาลได้เปิดพื้นที่ส่วนแรก 2,500 ไร่ ในวันนี้ (23) โดยมากกว่า 70% ของที่ดินถูกแบ่งส่วนให้แก่บริษัท 48 แห่ง จาก 13 ประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในพม่าที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน พุ่งสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงปีงบประมาณล่าสุด จาก 329.6 ล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2552-2553 และไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจพม่าจะขยายตัว 8.5% ในปีนี้

พม่ากำลังวางแผนโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษอีก 2 แห่ง ที่เมืองทวาย ท่าเรือทางภาคใต้ใกล้กับชายแดนไทย และเมืองจอก์พยู บนชายฝั่งอ่าวเบงกอลในภาคตะวันตก.
.
<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่พม่าและญี่ปุ่นถ่ายภาพร่วมกันในพิธีเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา.--Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น