ภาคเอกชนชงแผนยุทธศาสตร์ “ไบโอฮับ” เสนอรัฐ หวังผลักดันเป็นวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดันภาคเอกชนเป็นหลักในการลงทุน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านนโยบายและความช่วยเหลือในระยะต้น
วานนี้ (26 ส.ค.) สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันบันฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาBio Hub ประเทศไทย” เพื่อผลักดันให้เป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติในระยะยาว โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนเข้าร่วมรับฟัง
นางประไพ นำธวัช ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลก (Bio Hub) ให้สำเร็จจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านนโยบาย การส่งเสริมการลงทุนและการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และธุรกิจเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและชีวมวลให้เป็นพลังงานด้วยการบูรณาการเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความคุ้มค่า ดังนั้น การจัดตั้งไบโอฮับควรอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นคอมเพล็กซ์ และอยู่ในแหล่งวัตถุดิบ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในนิคมฯ
ทั้งนี้ ไทยมีความได้เปรียบด้านวัตถุดิบที่หลากหลายทั้งน้ำตาล มันสำปะหลัง และปาล์ม โดยตลาดให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่อุปสรรคของการพัฒนาไบโอฮับ คือ การขาดแผนแม่บทในการพัฒนาฯ นโยบายการดึงดูดการลงทุน เทคโนโลยี และหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ ตลาดไบโอเป็นตลาดใหม่ที่ต้องทำตลาดสร้างความต้องการใช้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดความต้องการใช้ภายในประเทศด้วย
ดังนั้น แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมหลักในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการเกษตร จึงจำเป็นต้องบรรจุเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพให้เป็นแผนเร่งด่วน (ปี 2558-2559) ผ่านทางคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) และระยะยาวให้จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพแห่งชาติเพื่อบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยชูเป็นวาระแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้ภาคเอกชนเป็นหลักในการผลักดันการลงทุน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนด้านนโยบายและความช่วยเหลือในระยะต้น
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะเสนอรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพิจารณารับฟังความคิดเห็นแนวทางแผนส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาBio Hub ดังกล่าวในวันที่ 26 ส.ค.นี้ แล้วนำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปรับปรุงแนวทางเพื่อผลักดันให้แผนยุทธศาสตร์ขวาระแห่งชาติ มีส่วนช่วยให้ไทยพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่ประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง 1.5 หมื่นเหรียญสหรัฐ/คน/ปี
จากการศึกษามี 4 ยุทธศาสตร์หลักที่จะผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพ ภายใน 20 ปี โดยเสนอให้จัดตั้งศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลิตเชื้อเพลิง เคมีชีวภาพและพลาสติกชีวภาพ ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกันใกล้แหล่งวัตถุดิบ พร้อมทั้งสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภครองรับหน่วยผลิตต่อเนื่องที่จำเป็นที่เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ โดยการพัฒนาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี 2561-2568) ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ ผลิตเชื้อเพลิง เคมี และพลาสติกชีวภาพ ที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 1.2 แสนล้านบาท/ปี และระยะที่ 2 (ปี 2569-2578) จะใช้มันสำปะหลังและชีวมวลต่างๆ ที่มีศักยภาพในอนาคตมาเป็นวัตถุดิบเสริมเพื่อลดต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีฐานการผลิตสินค้าชีวภาพอยู่บ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรดชีวภาพ พลาสติกชีวภาพ ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ดังนั้นไทยจึงมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในระดับโลกได้
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเห็นความสำคัญที่จะต้องเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในรูปแบบไบโอฮับ และสนับสนุนให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการลงทุนสูงเนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงและผูกขาดโดยเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งงไทยต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากภาครัฐในระยะเริ่มต้นในหลายๆ ด้าน โดยให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกแก่ผู้บริโภคและการสร้างตลาดสำหรับสินค้าชีวภาพ
นายธานินทร์ ผะเอม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โดยเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติเป็นกลไกบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่ชัดเจนและกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ