ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - มช.เปิดห้องปฏิบัติการต้นแบบ “การผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการใช้งานทางการแพทย์” นับเป็นการผลิตวัสดุทางการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO 13485
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทำพิธีเปิดห้องปฏิบัติการต้นแบบ “การผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการใช้งานทางการแพทย์” โดยผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการผลิตวัสดุทางการแพทย์แห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO 13485
รศ.ดร.เสริมเกียรติ จอมจันทร์ยอง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีนโยบายการสร้างความเข้มแข็งในโครงการวิจัยและพัฒนาให้เกิดการต่อยอดและถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคมภาคการผลิตและการบริการ
จากผลการวิจัยของ ผศ.ดร.วินิดา บุณโยดม และคณะผู้วิจัย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการมานานกว่า 15 ปี ได้ทุนสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจนสามารถคิดค้นตัวริเริ่มปฏิกิริยาตัวใหม่เพื่อใช้ในการผลิตมอนอเมอร์และพอลิเมอร์สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติก
รศ.ดร.เสริมเกียรติกล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณในการสร้างและปรับปรุงพื้นฐานของโรงงานต้นแบบ ให้สามารถผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพสำหรับการใช้งานทางการแพทย์เพื่อการวิจัยและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้สนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมา วช. และสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 28 ล้านบาทในการสร้างห้องปฏิบัติการต้นแบบการผลิตพลาสติกชีวภาพสูงสำหรับใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์
ห้องปฏิบัติการแห่งนี้จะเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐาน ISO 13485 ที่สามารถผลิตพลาสติกชีวภาพเกรดทางการแพทย์และนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับผลิตวัสดุทางการแพทย์ และถือเป็นการลดอัตราการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของอุตสาหกรรมทางการแพทย์จากพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยอีกด้วย
ห้องปฏิบัติการต้นแบบ “การผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับการใช้งานทางการแพทย์” ถือเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตเม็ดพลาสติกจนถึงการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาพลาสติกชีวภาพ ประเภท PLA และ PBS โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้พลาสติกชีวภาพดังกล่าวเป็นสินค้าระดับสากล และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ