xs
xsm
sm
md
lg

โชว์สิ่งทอฝีมือไทยจากเส้นใยพลาสติกข้าวโพดครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.มณฑา ไก่หิรัญ พร้อมชุดแสดงเสื้อกีฬจากเส้นใยเม็ดพลาสติกข้าวโพดผสมโพลีเอสเตอร์
โชว์สิ่งทอจากเส้นใยผลงานไทยปั่นขึ้นจากเม็ดพลาสติกข้าวโพดเป็นครั้งแรก แสดงศักยภาพตั้งเป้าให้เกิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดตัวผลิตภัณฑ์สิ่งทอผลงานไทยจากเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพโพลีแลคติกแอซิด (Polylactic Acid: PLA) จากข้าวโพดเป็นครั้งแรก เมื่อ 11 ส.ค.58 ณ โรงแรมอโนมา แกรนด์

น.ส.มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการโครงการพลาสติกชีวภาพ สนช. เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า สิ่งทอดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "Texio: กระบวนการผลิตเส้นใยยาวและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยชีวภาพพอลิแล็กไทด์ในเชิงพาณิชย์" และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความต้องการของตลาดและศักยภาพในการพัฒนาสิ่งทอจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนตั้งโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพในอนาคต

ก่อนหน้านี้ สนช.เคยนำเข้าตัวอย่างสิ่งทอของญี่ปุ่นที่ผลิตจากเม็ดพลาสติกชีวภาพ แต่ครั้งนี้ น.ส.มณฑา กล่าวว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สามารถปั่นเส้นใยขึ้นจากเม็ดพลาสติก PLA โดยความร่วมมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และย้อมสีทั้งขณะเป็นเส้นใยหรือย้อมสีหลังการทอเป็นผลิตภัณฑ์

"เม็ดพลาสติก PLA ยังทนรือนได้ไม่ดี การขึ้นรูปจึงยังต้องผสมเส้นใยชนิดอื่นอยู่ แต่เราก็พยายามใช้พลาสติกชีวภาพให้ได้เปอร์เซนต์สูงที่สุด เพราะ สนช.อยากให้เกิดโรงงานเม็ดพลาสติกชีวภาพในไทย จึงต้องทำตลาดในเมืองไทยก่อน" น.ส.มณฑากล่าว

สำหรับอุตสาหกรรมที่ สนช.เน้นให้เกิดการใช้พลาสติกชีวภาพมี 5 อุตสาหกรรม คือ บรรจุภัณฑ์ การเกษตร วัสดุการแพทย์ ยานยนต์ และสิ่งทอ น.ส.มณฑากล่าวว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นั้นดำเนินการไปได้แล้ว อีกอุตสาหกรรมที่มองว่ามีโอกาสสำเร็จคือสิ่งทอ เนื่องจากมีเรื่องการของออกแบบและแฟชั่นที่จะเข้ามาช่วยชดเชยราคาต้นทุนที่แพงกว่า

ด้านนายพิชัย อุตมาภินันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ดเท็กซ์ไทล์มิลล์ จำกัด กล่าวว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังมองหาเส้นใยใหม่ๆ มาทดแทนเส้นใยโพลีเอสเตอร์ที่พัฒนาขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ค่อยมีผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีใดที่อยู่ในตลาดมานานขนาดนี้ อีกทั้งอนาคตการใช้น้ำมันจะน้อยลง ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ที่กลั่นจากน้ำมันน้อยลงและมีราคาแพงขึ้น ขณะที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพจะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้นายพิชัยกล่าวว่าตลาดมีความต้องการสิ่งทอจากเส้นใยพลาสติกชีวภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องการราคาที่สามารถจับต้องได้ พร้อมทั้งเปรียบเทียบความสำเร็จของเส้นใยจากโพลีเอสเตอร์ที่เข้ามาแซงเส้นใยฝ้ายในอดีตว่า ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาให้มีราคาที่ถูกกว่าฝ้ายและมีคุณสมบัติหลายด้านที่ดีกว่า เช่น ไม่ยับ ซักง่าย และทนทาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นสหรัฐฯ เคยพัฒนาเส้นใยโพลิเอสทิลีนแต่มีต้นทุนที่แพงกว่าฝ้าย จึงไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนจุดแข็งของฝ้ายซึ่งเป็นฐานชีวภาพเช่นเดียวกับเม็ดพลาสติกชีวภาพนั้น นายพิชัยกล่าวว่า มีไม่กี่พื้นที่บนโลกที่สามารถปลูกฝ้ายได้ หากปลูกที่เมืองไทยต้องใช้ยาฆ่าแมลงมาก เนื่องจากฝ้ายเป็นพืชที่ต้องการอากาศแห้งเพื่อออกดอกและต้องเป็นช่วงที่แมลงจำศีล ขณะที่ไทยซึ่งมีทรัพยากรเส้นใยเซลลูโลสอยู่มาก ทั้งอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด อุตสาหกรรมเส้นใยจากเม็ดพลาสติกชีวภาพจึงเป็นความหวังของไทย

สำหรับเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA นั้นได้จากกระบวนการหมักพืชจำพวกแป้งหรือข้าวโพดจนได้เป็นกรดแลคลิก ซึ่งเป็นมอนอเมอร์ แล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตให้เป็นพอลิเมอร์จนกลายเป็นเม็ดพลาสติกคล้ายที่ได้จากกระบวนการปิโตรเคมี
เป็นครั้งแรกสำหรับสิ่งทอไทยที่ทอขึ้นจากเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพด
เม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพด
เส้นใยจากเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพด
ผ้าพันคอทอด้วยเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพดผสมเส้นไหม
ผ้าปูที่นอนเส้นใยพลาสติกชีวภาพเม็ดข้าวโพดผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์
ถุงเท้าจากเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพจากขัาวโพดผสมเส้นใยฝ้าย
เสื้อสูทจากเส้นใยพลาสติกชีวภาพข้าวโพดผสมเส้นใยโพลีเอสเตอร์
เสื้อสูทจากเส้นใยเม็ดพลาสติกชีวภาพจากข้าวโพดผสมเส้นใยโทเร
กำลังโหลดความคิดเห็น