“พาณิชย์” เตรียมตรวจสอบนอมินีอีก 230 ราย พุ่งเป้าธุรกิจขายตรง ขายของที่ระลึก และส่งเด็กไปเรียนนอก หลังพบมีต่างชาติดอดเข้ามาทำธุรกิจ ประสาน สคบ.สอบเข้มขายตรง ป้องกันคนไทยตกเป็นเหยื่อ พร้อมไล่บี้บุคคล นิติบุคคล ค้าขายออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกต้อง เผยล่าสุดดำเนินคดีแล้ว 9 รายหลังโกงผู้บริโภค
นายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมที่จะทำการเข้าไปตรวจสอบการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) เพิ่มเติมในธุรกิจขายตรง ธุรกิจขายของที่ระลึก และธุรกิจบริการส่งนักศึกษาไปต่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นมีการตรวจสอบพบว่ามีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติ จึงต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีการแอบเข้ามาทำธุรกิจสงวนของคนไทยหรือไม่ ซึ่งหากมีการทำธุรกิจจริงก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง ไม่ได้ห้ามที่จะเข้ามาทำธุรกิจแต่อย่างใด แต่หากทำไม่ถูกต้องก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
“ธุรกิจที่จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมรวม 230 ราย แยกเป็นขายตรง 48 ราย ขายของที่ระลึก 80 ราย และบริการส่งนักศึกษาไปต่างประเทศ 102 ราย โดยกรมฯ จะเข้าไปตรวจสอบการถือหุ้น การเป็นเจ้าของธุรกิจว่าดำเนินการถูกต้องตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธุรกิจขายตรง กรมฯ จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าไปตรวจสอบด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ เพราะเป็นธุรกิจที่ได้รับการร้องเรียนว่ามีปัญหาการหลอกลวงเกิดขึ้นมาก
สำหรับการตรวจสอบนอมินีก่อนหน้านี้ มีธุรกิจที่เข้าข่ายตรวจสอบ 5,899 ราย แต่หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีเข้าข่ายและได้ทำการตรวจเชิงลึก 276 ราย ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ บริการเช่ารถ และสปา ในกรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต โดยในจำนวนนี้มีธุรกิจที่กรมการท่องเที่ยวและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขอให้ตรวจเพิ่มอีก 38 ราย รวมทั้งสิ้น 314 ราย ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าเป็นนอมินีจำนวน 13 ราย ซึ่งได้ส่งดีเอสไอดำเนินคดีแล้ว และยังได้ส่งสรรพากรจับตาบริษัทที่เป็นนอมินีเป็นพิเศษด้วย
นายวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า กรมฯ ได้ดำเนินการเอาผิดผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เอาเปรียบและฉ้อโกงผู้บริโภค โดยได้มีการดำเนินการไปแล้ว 9 ราย ได้แก่ ชำระค่าสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า 5 ราย คือ เฟซบุ๊ก, sbuyservice, truck2hanc.com, kaidee.com และ frohomelesscats.com ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ 1 ราย คือ lazada.com สินค้าไม่ได้คุณภาพ 2 ราย คือ lazada และ line shop และอื่นๆ (ไม่รับผิดชอบตามสัญญาประกัน) 1 ราย คือ fourrice.com
“กรมฯ ขอแนะนำให้ประชาชนที่ทำการซื้อสินค้าออนไลน์ ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าบุคคลหรือนิติบุคคลที่จะซื้อสินค้าด้วยนั้นมีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันการถูกฉ้อโกง ส่วนบุคคลหรือนิติบุคคล หากต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ ยืนยันการมีตัวตนก็ต้องจดทะเบียนให้ถูกต้อง ทั้งนี้ กรมฯ ขอให้ประชาชนที่ถูกฉ้อโกงสามารถร้องเรียนมาได้ที่กรมฯ หรือ สคบ. ซึ่งจะมีการดำเนินการติดตามตัวผู้กระทำผิดให้” นายวิชัยกล่าว
สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเดือน ก.ค. 2558 มีจำนวน 422 ราย 457 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 368% และในช่วง 7 เดือนของปี 2558 (ม.ค.-ก.ค.) มีจด 1,295 ราย 1,356 เว็บไซต์ เพิ่มขึ้น 169% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กรมฯ ได้รณรงค์และเอาจริงกับผู้ที่ไม่จดทะเบียน ทำให้ ณ ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จดทะเบียนคงอยู่รวม 12,573 ราย 14,268 เว็บไซต์